‘มหาอำนาจเศรษฐกิจ’ บนแผนที่โลกกำลังเขยิบตำแหน่งครั้งใหญ่ เมื่อ รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐฯ ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญด้วยการแซงหน้า ประเทศญี่ปุ่น ขึ้นแท่นเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก
ข้อมูลล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของแคลิฟอร์เนียทะยานขึ้นถึง 4.10 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2024 แซงหน้าญี่ปุ่นที่อยู่ที่ 4.01 ล้านล้านดอลลาร์
เกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียประกาศความสำเร็จนี้ด้วยความภาคภูมิใจ “แคลิฟอร์เนียไม่ได้แค่ก้าวตามโลก แต่เรากำลังเป็นผู้กำหนดจังหวะก้าวของโลก เศรษฐกิจของเรากำลังเฟื่องฟูเพราะเราลงทุนในคน ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และเชื่อในพลังของนวัตกรรม”
แคลิฟอร์เนียที่มีประชากรราว 40 ล้านคน เป็นรัฐที่มีสัดส่วนภาคการผลิตและเกษตรกรรมใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง Silicon Valley เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก และมีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งของประเทศ
ในปี 2024 รัฐนี้คิดเป็น 14% ของ GDP ทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 6% ซึ่งเร็วกว่าทั้งจีน เยอรมนี และสหรัฐฯ ในภาพรวม
ปัจจุบันแคลิฟอร์เนียตามหลังเพียงเยอรมนีที่มี GDP 4.65 ล้านล้านดอลลาร์ จีนที่ 18.74 ล้านล้านดอลลาร์ และสหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่ 29.18 ล้านล้านดอลลาร์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนี้กลับมาพร้อมกับความกังวลอย่างหนัก เมื่อนิวซัม แสดงความวิตกต่อนโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังคุกคามความมั่งคั่งของรัฐ
“แม้เราจะฉลองความสำเร็จนี้ เราตระหนักดีว่าความก้าวหน้าของเรากำลังถูกคุกคามจากนโยบายภาษีที่ไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางชุดปัจจุบัน เศรษฐกิจแคลิฟอร์เนียขับเคลื่อนประเทศ และมันต้องได้รับการปกป้อง”
ทรัมป์ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเกือบทุกประเทศที่ส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ และเก็บภาษี 25% เพิ่มเติมจากเม็กซิโกและแคนาดา แต่ที่รุนแรงที่สุดคือการขึ้นภาษีกับจีนสูงถึง 145% ซึ่งนำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก
โดยจีนได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 125% กับสินค้าของสหรัฐฯ และล่าสุดรัฐบาลทรัมป์ยังประกาศว่า เมื่อรวมกับภาษีที่มีอยู่เดิม บางสินค้าจากจีนอาจถูกเก็บภาษีสูงถึง 245%
แคลิฟอร์เนียมีมูลค่าการค้าสองทางเกือบ 6.75 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2024 โดยมีเม็กซิโก แคนาดา และจีน เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ซึ่งกว่า 40% ของสินค้านำเข้าของรัฐมาจากประเทศเหล่านี้ คิดเป็นมูลค่า 2.03 แสนล้านดอลลาร์จากยอดนำเข้าทั้งหมดกว่า 4.91 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญแรงกดดันจากประชากรที่ลดลงและมีอายุสูงขึ้น ส่งผลให้แรงงานหดตัวและต้นทุนด้านสวัสดิการสังคมพุ่งสูง
ล่าสุด IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และคาดว่าธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากผลกระทบจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น
“ผลของภาษีที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายนและความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องหักล้างกับการคาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะแข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อจะช่วยเพิ่มรายได้ที่ใช้จ่ายได้ของครัวเรือนก็ตาม” รายงาน World Economic Outlook ระบุ
ท่ามกลางสงครามการค้าที่ดุเดือด ‘ดินแดนทองคำ’ อย่างแคลิฟอร์เนียจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย้อนแย้ง ในขณะที่กำลังฉลองการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจระดับโลก ในเวลาเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีประเทศตัวเอง
และเมื่อรัฐที่มีขนาดใหญ่พอจะเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจเริ่มต่อกรกับรัฐบาลกลาง สงครามภายในบ้านที่กำลังเกิดขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่น้อยไปกว่าสงครามการค้าระหว่างประเทศเลยทีเดียว
ภาพ: pizdets17 / Shutterstock
อ้างอิง: