×

ฟังเสียงคนไทยในธุรกิจร้านนวดที่แคลิฟอร์เนีย กับชีวิตที่เปลี่ยนผันในวันที่ต้องเอาตัวรอดยุคโควิด-19

30.03.2021
  • LOADING...
ธุรกิจร้านนวดที่แคลิฟอร์เนีย

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนให้กับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของผู้คนทั่วโลกมาจนถึงวันนี้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าความเสียหายในแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้นมีมากมายขนาดไหน

 

แต่ในอีกหลายมุมของโลกยังมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง หรือบางคนก็ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว พวกเขาเองก็ประสบกับความยากลำบากในสถานการณ์นี้เช่นกัน

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับคนไทยในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาที่ประกอบอาชีพนวดแผนไทย สำหรับที่นั่น อาชีพนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอาชีพยอดนิยมของคนไทยเช่นเดียวกับการทำงานในร้านอาหาร ทว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรสูงติดกลุ่มหัวตาราง ประกอบกับการเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยการสัมผัสกับผู้คน ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไป บางเรื่องแม้อาจจะสะท้อนแง่มุมที่ไม่สดใสนักในสังคม แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่ถูกเล่าผ่านสายตาของคนไทยที่อยู่ในอีกซีกหนึ่งของโลก

 

แสงทอง แสงแก้ว ผู้ดูแลร้านนวดแห่งหนึ่งในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส และอีกบทบาทในฐานะนายกสมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกา บอกกับเราว่าธุรกิจร้านนวดของคนไทยส่วนใหญ่มักจะเป็นร้านขนาดเล็ก มีจำนวนมาก และกระจุกตัวอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเฉพาะในเทศมณฑลลอสแอนเจลิส จึงมีการแข่งขันสูงและใช้วิธีลดราคาให้ถูกกว่าคู่แข่งทั้งร้านคนไทยด้วยกันและร้านนวดคนจีนที่มีจำนวนมาก การทำธุรกิจยังเป็นแบบง่ายๆ และด้วยอุปสรรคทางภาษา ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งอาจมีความไม่ทันข่าวสารหรือกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจยังไม่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย 

 

แสงทองยังบอกว่าการที่ดำเนินธุรกิจแบบง่ายๆ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเองก็อาจไม่ได้มีเงินเก็บเผื่อสำรองฉุกเฉิน อย่างสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไว้ด้วย

 

ธุรกิจร้านนวดที่แคลิฟอร์เนีย

(แสงทอง แสงแก้ว ผู้ดูแลร้านนวดแห่งหนึ่งในลอสแอนเจลิส และนายกสมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกา)

 

“บางทีเขารวมตัวกันแล้วได้เงินได้กำไรมา เขาก็จะแบ่งกัน อย่างเช่นถ้ามีหุ้นส่วนหรือเจ้าของคนเดียวก็แล้วแต่ ก็จะเอาเงินออกมา ส่งกลับไปเมืองไทย เอาไปลงทุนเพิ่ม อะไรพวกนี้ จะไม่ค่อยมีการเก็บสำรองเพื่อฉุกเฉิน ฉะนั้นพอเกิดผลกระทบตรงนี้ขึ้น เงินก็เลยขาดมือ ก็เลยไม่มีเงินหมุน ก็เดือดร้อนว่าจะทำยังไงถึงจะจ่ายค่าเช่าได้ ในเมื่อธุรกิจต้องปิด” เธอกล่าว

 

ส่วน ธนาวดี อนันต์กิตติกุล เจ้าของร้านนวดในพื้นที่เดียวกันอีกคนหนึ่ง เล่าถึงประสบการณ์ภาวะล็อกดาวน์ที่ทำให้ร้านนวดและสปาของเธอต้องถูกปิดไปไม่ต่ำกว่า 4 รอบตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

 

“ตอนช่วงที่เขาสั่งล็อกดาวน์ครั้งแรกก็คือกลางเดือนมีนาคม อันนั้นก็คือปิดเลย คือทุกคนต้อง Stay Home หมด ตอนนั้นช็อกพอสมควร ไม่ได้เข้าไปที่ตัวร้านเลย ไม่ได้เข้าไปเช็กอะไรเลย…ต้นไม้ตายเรียบ” เธอเล่า และบอกต่อไปว่าในช่วงนั้นหมอนวดที่จะได้รับอนุญาตมีเพียงหมอนวดที่นวดเพื่อการแพทย์สำหรับบางกรณีเท่านั้น และอาจต้องมีใบสั่งแพทย์ด้วย เป็นอย่างนี้อยู่ราว 3 เดือน ก่อนที่สถานการณ์จะดีขึ้นบ้าง และมาถึงช่วงที่ได้รับอนุญาตให้เปิดร้านได้อีกครั้ง

 

แต่ช่วงเวลาดีๆ ในตอนนั้นอยู่กับเธอไม่นานนัก

 

“พอเปิดได้แค่เดือนเดียวก็สั่งปิดอีก เขาให้เปิดเอาต์ดอร์ได้ แต่ด้วยโลเคชันของนาทั้งสองที่ไม่มีพื้นที่เอาต์ดอร์เลย ก็คือหน้าร้านเป็นริมถนนอะไร ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นก็ปิดต่ออีก 3 เดือน”

 

และเมื่อเปิดร้านได้อีกครั้ง เธอต้องรับกับกฎเกณฑ์ที่ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการได้เพียงแค่ 25% ของปริมาณการให้บริการในช่วงเวลาปกติ ตามมาด้วยการสั่งปิด เปิด และปิดอีกครั้ง

 

“จนเพิ่งมาเปิดรอบนี้ก็ช่วงต้นสัปดาห์แรกของมกราคม เพราะว่าสถานการณ์เหมือนจะเริ่มดีขึ้น เริ่มมีวัคซีนอะไรพวกนี้ค่ะ แต่ก็คือช่วง 1 ปีที่ผ่านมายอดขายหายไปน่าจะ 90% เลย” เธอยอมรับกับเรา

 

ธุรกิจร้านนวดที่แคลิฟอร์เนีย

(ธนาวดี อนันต์กิตติกุล เจ้าของร้านนวดในลอสแอนเจลิส)

 

“ในช่วงที่ปิดก็ไปรับจ๊อบเสริมค่ะ เป็นช่วง Explore Life เหมือนกัน จากเป็นเจ้าของธรรมดาอยู่อย่างนี้ ก็ลองไปทำเป็นจ๊อบเล็กๆ ดูว่าเป็นอย่างไร ได้ลองหลายอาชีพอยู่ค่ะ” เธอเล่าต่อไปว่าอาชีพที่เธอได้ลองทำในช่วงที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ตามปกติก็เช่น การขับรถส่งอาหาร การขายของออนไลน์ หรือแม้แต่การเป็นผู้ช่วยซื้อของส่วนตัว (Personal Shopper) ที่รับจ้างไปซื้อของตามร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตแทนคนที่ไม่กล้าออกจากบ้าน

 

อีกด้านหนึ่ง ชะตากรรมของหมอนวดก็ดูจะคล้ายคลึงกับเจ้าของร้าน

 

นิค (นามสมมติ) หมอนวดคนไทยในลอสแอนเจลิสที่ยอมรับว่าเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือเรียกอย่างง่ายๆ ก็คือ ‘โรบินฮูด’ แต่มีใบอนุญาตทำงานนวดตามกฎหมายของรัฐ เขาเล่าให้เราฟังว่าช่วงที่มีการล็อกดาวน์ครั้งแรก หากไม่นับกลุ่มหมอนวดที่ทำงานกับแพทย์จัดกระดูกหรือไคโรแพรกติก เขาและเพื่อนร่วมอาชีพก็แทบจะไม่มีใครได้ทำงานเลย และคำถามที่หลายคนตอบไม่ได้ก็คือ จะทำงานอะไร

 

“มันปิดวันที่ 16 มีนาคมใช่ไหม พอช่วงประมาณเมษายนกลางเดือน ผมก็นั่งคิดว่า เฮ้ย เงินจะหมดแล้วนะ ใช้เงินเดือนหนึ่งโดยที่ไม่ได้ทำอะไร แล้วก็กินนอนอย่างเดียว ดูทีวี ดู Netflix จนหมดแล้ว ก็ไม่รู้จะทำอะไร ตัวเองก็ปวดตามเนื้อตามตัวไปหมดเพราะว่านอนตลอด ยิม ฟิตเนสต่างๆ โดนสั่งปิดหมด” เขายังบรรยายสภาพเมืองในตอนนั้นว่า ธุรกิจโดนสั่งปิดเกือบทั้งหมดยกเว้นร้านค้าที่ขายของจำเป็น ท่ามกลางการต่อคิวซื้อของที่ยาวเหยียดจนเขาบรรยายว่า ‘น่ากลัว’

 

“น่าจะเคยเห็นในข่าว คือแบบมันเหมือนมันจะสิ้นโลกแล้ว เหมือนในหนังเลย” เขาระบุ

 

ในที่สุดเขาก็ได้ไอเดียใหม่ในการหาเลี้ยงชีพ นั่นคือการทำอาหารขายผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ทำไปได้สักพัก เขายอมรับว่ากำไรที่ได้นั้นไม่มากนัก จึงหันมารับนวดตามบ้านลูกค้าในช่วงที่รัฐอนุญาตให้กลับมาทำงานได้

 

และท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนพยายามหาวิธีเอาตัวรอด ความช่วยเหลือที่บุคคลแต่ละกลุ่มได้รับก็ไม่เท่ากัน และคำว่า ‘บุคคลแต่ละกลุ่ม’ ในที่นี้ก็หมายถึงบุคคลที่มีสถานภาพทางกฎหมายและการประกอบอาชีพในสหรัฐฯ ที่ต่างกันออกไป

 

เป็นที่ทราบกันว่ามีคนไทยอยู่ในสหรัฐฯ จำนวนมาก และส่วนหนึ่งก็อยู่ในสหรัฐฯ แบบไม่ถูกกฎหมาย สถิติจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ระบุว่าจำนวนคนไทยในอาณาเขตของสถานทูตและสถานกงสุลที่อยู่ในสหรัฐฯ รวม 4 แห่ง มีเกือบ 500,000 คน แต่แสงทองบอกกับเราว่ามีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดอาจจะไม่ได้ร่วมการตอบแบบสำรวจจำนวนประชากรเนื่องจากความกลัว ดังนั้นตัวเลขจริงจึงน่าจะสูงกว่าที่ปรากฏ 

 

และจากคำบอกเล่าของแสงทอง ธนาวดี และนิค ความช่วยเหลือที่กลุ่มผู้ประกอบการได้รับจะมีทั้งในรูปของเงินกู้และเงินให้เปล่า ซึ่งมีหลายโครงการ ทั้งในระดับรัฐบาลกลาง ระดับรัฐบาลของรัฐ และระดับเทศมณฑล ขณะที่หมอนวดบางรายที่ไม่ได้อยู่ในสถานะลูกจ้าง แต่อยู่ในสถานะผู้ทำสัญญาอิสระ (Independent Contractor) เพื่อเช่าสถานที่ประกอบอาชีพก็สามารถขอกู้ได้หากมีใบอนุญาตในการทำธุรกิจ แต่หากไม่มี ก็ต้องไปขอรับเงินชดเชยการขาดรายได้ส่วนบุคคลแทน

 

นอกจากนี้ พลเมืองหรือคนต่างชาติผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐฯ ตลอดจนมีหมายเลขประกันสังคมในสหรัฐฯ และยื่นเสียภาษีก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายครั้งตามกฎหมาย สำหรับครั้งล่าสุดก็เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือออกมาในเดือนมีนาคม 2021 และตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา คนโสดจะได้รับเงินช่วยเหลือสูงสุดคนละไม่เกิน 1,200 / 600 / 1,400 ดอลลาร์ตามลำดับ 

 

ส่วนกรณีผู้ที่สมรสและยื่นภาษีร่วมกันก็จะได้รับเงินช่วยเหลือคู่ละไม่เกิน 2,400 / 1,200 / 2,800 ดอลลาร์ต่อคู่ และบุตรเองก็อาจเข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือต่างหากอีกจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะสำหรับคนที่อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่ตกงานหรือรายได้ลดลง ก็ยังมีเงินชดเชยการขาดรายได้หรือรายได้ลดอีกส่วนหนึ่งจากกรมพัฒนาแรงงาน และในบางรัฐอาจให้เงินสมทบเพิ่มขึ้นไปอีก รวมๆ แล้วแสงทองบอกกับเราว่าเงินชดเชยการขาดรายได้ก้อนนี้จะอยู่ราวๆ 1,500-4,000 ดอลลาร์ต่อเดือน จึงอาจกล่าวได้ว่าคนกลุ่มที่อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้รับเงินชดเชยในระดับที่ ‘พออยู่ได้’ เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่จะเคยได้รับรายได้มากกว่านั้นมาก่อน

 

ทว่า แสงทองสะท้อนว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ความล่าช้าในการให้เงินช่วยเหลือต่างๆ และการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ทำสัญญาอิสระสามารถรับเงินค่าชดเชยการตกงานได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (เพราะคนกลุ่มนี้ปกติก็ไม่ได้ส่งเงินสมทบกรณีตกงาน แต่เนื่องจากโควิด-19 เป็นกรณีที่รัฐอนุมัติให้จ่ายเงินชดเชยการตกงานได้) ก็ทำให้ระบบที่ใช้ยื่นขอรับเงินเกิดปัญหา รวมถึงต้องใช้คนจำนวนมากในการคัดกรองคำร้องขอรับเงินชดเชยดังกล่าวว่าเป็นไปตามสิทธิที่ควรได้รับหรือไม่ ซึ่งก็ทำให้บางคนได้รับเงินช้าเช่นกัน

 

“ที่บอกว่าเดือดร้อนเป็นเพราะว่าเงินที่ได้บางทีมันล่าช้า บางทีเป็นเดือนไม่ได้ หลายเดือนไม่ได้ก็ยังมี โดยเฉพาะช่วงของคาบเกี่ยวปี คือเงินตกงานมันจะแบ่งเป็นปีๆ ฉะนั้นพอจะขึ้นปีใหม่ปั๊บมันจะเป็นช่วงรอยต่อ อันนี้อันที่หนึ่ง ส่วนอันที่สอง ในประวัติศาสตร์ คนที่เป็น Independent Contractor เขาเคลมเงินตกงานไม่ได้ พอคนเยอะๆ เข้ามาในระบบ ตอนแรกมันแฮงก์มากเลยนะ ทุกคนเข้าไปเพื่อที่จะขอเอาเงินอะไรอย่างนี้ ระบบล่ม แล้วตอนหลังมามันก็ดีขึ้น” เธอกล่าว

 

แสงทองยังบอกด้วยว่า ยังมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราวอย่างหนัก และเนื่องด้วยการไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในลักษณะที่เข้าข่ายจะได้รับเงินกู้ หรือได้รับแต่อาจไม่เพียงพอต่อการชดเชยผลกระทบ เธอจึงหวังให้มีแหล่งเงินกู้จากไทยมาช่วยเหลือธุรกิจของคนไทยที่อยู่นอกประเทศ แต่เธอเองก็ไม่แน่ใจว่าการกู้ลักษณะนี้เป็นไปได้เพียงใด 

 

นอกจากนี้ ธุรกิจหลายแห่งยังประสบภาวะขาดแคลนคนทำงาน เธอบอกว่าตราบใดที่รัฐบาลยังให้เงินช่วยเหลือการตกงาน หมอนวดที่ได้รับเงินดังกล่าวเป็นรายสัปดาห์จำนวนมากก็ไม่อยากกลับมาทำงาน เพราะไม่อยากมีหลักฐานว่าได้ทำงานแล้วและมีรายได้ ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออีก เว้นแต่เจ้าของร้านจะยอมจ่ายค่านวดหรือค่าทำงานเป็นเงินสด ซึ่งเธอย้ำว่านี่เป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมายและเข้าข่ายการฉ้อโกง

 

ส่วนสถานการณ์ของกลุ่มผู้ที่อยู่แบบไม่ถูกกฎหมาย แสงทองบอกว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่ ‘เดือดร้อนที่สุด’ เธอและนิคบอกว่าคนกลุ่มนี้อาศัยเงินจากบางองค์กรที่ให้เงินช่วยเหลือแก่กลุ่มโรบินฮูด ซึ่งให้เป็นครั้งๆ ไป และบางคนก็ไม่ได้เงินส่วนนี้หากหลักฐานไม่เพียงพอ

 

“มันจะมีทั้งเช็คแล้วก็มีเป็นบัตร เอาไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ไม่สามารถกดมาเป็นเงินได้ แล้วก็ไม่สามารถที่จะซื้อเหล้าบุหรี่ได้ ซื้อแค่ของกินกับของใช้ทั่วไป ผมก็ได้อันนั้นมานะก็ไปลองซื้อไวน์ขวดหนึ่ง ก็ไม่ได้ บอกไปรวมๆ แล้วกันว่าครั้งแรกได้ 1,000 (ดอลลาร์) ครั้งที่ 2 ได้ 600 ครั้งที่ 3 ได้อีก 600 ตีไปก็ประมาณ 2,200 แล้วก็จะมีอีกอันหนึ่ง 500 เป็น 2,700” นิคเล่า พร้อมบอกต่อไปว่ากลุ่มโรบินฮูดส่วนหนึ่งหากได้กลับไปทำงานแล้วก็ไม่อยากรับเงินส่วนนี้ เพราะเงินเหล่านี้แม้จะได้มาฟรีๆ แต่ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน เขาเองยังบอกว่าไม่แน่ใจว่าในพื้นที่อื่นๆ จะมีความช่วยเหลือให้กับกลุ่มโรบินฮูดในลักษณะนี้หรือไม่

 

แสงทองยังบอกกับเราว่า การมีเงินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพทำให้สมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐฯ ที่เธอดูแลอยู่พยายามเปิดช่องทางให้มีการทำธุรกิจซื้อขายของกันเองเป็นรายได้เสริม ทว่าก็มีหมอนวดส่วนหนึ่งเลือกที่จะแอบไปทำงานนวด เจ้าของร้านบางคนก็แอบเปิดร้าน คล้ายๆ กับนิคที่บอกว่าเพื่อนของเขาหลายคนหันไปทำงานในรัฐอื่นที่อาจไม่สั่งห้ามเรื่องการทำงาน ขณะที่บางคนก็ยังแอบทำงานอยู่ และร้านนวดบางร้านก็ยังแอบเปิดอยู่ ซึ่งก็มีความเสี่ยงหากถูกจับได้ ส่วนบางคนก็หันไปทำอาชีพอื่น เช่น ทำอาหารขาย

 

อีกอาชีพที่ทั้งแสงทอง ธนาวดี และนิคระบุตรงกันว่ามีคนไทยส่วนหนึ่งหันไปทำ นั่นคือการรับตัดกัญชา เพราะกัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียหากอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อย่างไรก็ตาม แสงทองบอกว่าเนื่องจากในระดับรัฐบาลกลางยังคงจัดให้กัญชาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แหล่งเพาะปลูกเหล่านี้จึงมักเป็นที่ปกปิด และเธอยังได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาของผู้ที่รับตัดกัญชาอยู่บ้าง โดยเฉพาะการถูกโกง และก่อนหน้านี้ยังมีข่าวการฆาตกรรมในแหล่งปลูกกัญชาผิดกฎหมายของแคลิฟอร์เนียด้วย แม้ผู้เกี่ยวข้องจะไม่ใช่คนไทยก็ตาม

 

และเมื่อไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่รอดในสถานการณ์นี้ ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับพนักงานและผู้ประกอบการยังส่งผลให้คนไทยในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งตัดสินใจเดินทางกลับมายังประเทศไทยด้วย

 

“มีคนกลับเมืองไทยเยอะมากเลยนะ ธุรกิจนวดปิดตัวเยอะ ปิดตัวแล้วก็กลับไปอยู่เมืองไทย คือไม่ได้ขายกิจการ ขายกิจการไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ ณ ตอนนี้ก็ปิดเลย ยอมเป็นหนี้ บางคนยอมล้มละลายก็ย้ายทุกอย่างกลับไปอยู่เมืองไทย” นิคระบุ

 

“ได้ยินข่าวมาเหมือนกัน อย่างคนไทยที่อายุเยอะหน่อยแล้วไม่ได้มีใบเขียวหรือเป็น Citizen อยู่อย่างถูกต้อง เขาก็ตัดสินใจกลับบ้าน กลับเมืองไทยกันเลย เพราะว่าอยู่ไปก็ไม่มีรายได้ แล้วก็ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายของคนที่เป็นพนักงานหลักๆ ก็คือค่าเช่าบ้าน ดังนั้นในเมื่อไม่มีรายได้ อยู่ไปก็ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน แล้วไม่รู้เมื่อไรโควิด-19 จะหาย เขาก็ตัดสินใจกลับบ้านเลยค่ะ” ธนาวดีระบุ

 

เราจึงถามต่อไปว่ามีคนไทยในอเมริกาที่ติดโควิด-19 มากน้อยเพียงใด แสงทองบอกว่าช่วงปลายปีเธอเริ่มทราบว่ามีคนไทยติดโควิด-19 มากขึ้น และมีผู้เสียชีวิตด้วย ซึ่งเธอแสดงความกังวลว่าหากจำนวนคนที่เสียชีวิตที่ไม่มีการเก็บเงินสำรองเอาไว้กับตัวเลยมีมากขึ้น จะทำให้สถานการณ์ที่แต่เดิมชุมชนคนไทยที่นั่นจะสามารถช่วยกันบริจาคเพื่อเป็นค่าทำศพได้ก็อาจ​จะยากลำบากมากขึ้น เพราะช่วงนี้ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเท่าที่เธอทราบจากการสอบถามเมื่อหลายปีก่อน ความช่วยเหลือที่กงสุลสามารถช่วยได้กรณีผู้เสียชีวิตไม่มีเงินก็คือการเผาศพแบบรวมเพื่อให้ค่าใช้จ่ายถูกลง ซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตก็อาจต้องการให้เผาศพแบบแยกที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่า เป็นต้น

 

เมื่อถามถึงบทบาทของชุมชนที่นั่นและหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ นิคบอกว่าองค์กรอเมริกันส่วนหนึ่งก็ตั้งจุดแจกของเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบความยากลำบาก เช่นเดียวกับชุมชนคนไทยที่แหล่งข่าวทั้งสามรายบอกตรงกันว่า มีการรวมตัวกันแจกอาหารกล่อง ข้าวสาร อาหารแห้ง ตลอดจนของใช้จำเป็น และมีการส่งต่อข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ให้ผู้ที่เดือดร้อนไปรับสิ่งของเหล่านี้ได้ 

 

แสงทองบอกว่าสถานกงสุลไทยจะมีงบส่วนหนึ่งลงมาสมทบเรื่องสิ่งของในส่วนนี้ รวมถึงให้งบผ่านชมรม สมาคม องค์กรคนไทย ตามที่องค์กรเหล่านี้ได้เสนอโครงการเข้าไป ซึ่งเธอบอกว่ากำลังประสานเพื่อทำโครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของลูกค้าให้กลับมาใช้บริการร้านนวดไทยอีกครั้ง โดยการประกวดธุรกิจร้านนวดแล้วจัดทำสื่อโฆษณาแก่ชาวต่างชาติ ส่วนกรณีมีผู้ที่ติดโควิด-19 คนไทยหรือองค์กรคนไทยก็จะช่วยกัน อาทิ การเป็นผู้อาสา หรือจัดหาผู้อาสานำอาหาร นำของจำเป็นไปส่งให้ยังที่พักที่ใช้ในการกักตัว หรือกรณีฉุกเฉินใดๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือก็อาจประสานไปยังสถานกงสุลหรือสถานทูตได้

 

ณ วินาทีนี้ วัคซีนกำลังถูกแจกจ่ายในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ทั้งสามคนบอกกับเราว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แสงทองยังคงไม่แน่ใจกรณีการมาของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ยังคงมีข่าวอย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่ง การจำกัดปริมาณผู้ใช้บริการร้านนวดที่เข้าใช้บริการภายในอาคารไว้ที่ 50% ของปริมาณปกติ ทำให้ร้านนวดต้องปรับตัวในการจัดสถานที่และคิวให้บริการกันใหม่

 

“ถึงไม่กำหนดลูกค้าก็น้อยอยู่แล้ว” แสงทองกล่าวพลางหัวเราะ

 

เธอบอกว่าในยามนี้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานสาธารณสุขในทุกระดับ รวมถึงข้อแนะนำที่ทำได้ อาทิ การสวมหน้ากากทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ การล้างมือก่อนและหลังของผู้ให้และผู้รับบริการ การรายงานต่อหน่วยงานสาธารณสุขหากมีพนักงานในร้านติดโควิด-19 ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในระยะเวลาติดต่อกัน 14 วัน การระบุมาตรฐานความสะอาดให้ปรากฏแก่ลูกค้า หรือให้พนักงานเข้ารับการอบรมจนได้ประกาศนียบัตรมารับรอง แต่ในอีกแง่หนึ่ง เธอก็หวังว่าโครงการที่ประกวดธุรกิจร้านนวดและทำสื่อโฆษณาที่กล่าวไปก่อนหน้า ตลอดจนการปรับปรุงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางอื่นๆ ก็จะช่วยดึงลูกค้ากลับเข้าร้านนวดไทยได้ด้วย

 

ธุรกิจร้านนวดที่แคลิฟอร์เนีย

(บริเวณหน้าร้านนวดแห่งหนึ่งของธนาวดี)

 

ส่วนธนาวดี การมีจำนวนลูกค้าที่ลดลงสอดคล้องกับจำนวนพนักงานส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถกลับมาทำงานได้เพราะความจำเป็นส่วนตัว อาทิ ภาระการดูแลบุตรหลานที่บ้าน เธอเองก็จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันและดูแลความสะอาด ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน เธอยังอาสาพาพนักงานที่ไม่มีรถไปตรวจโควิด-19 เองทุกเดือน ซึ่งการตรวจโควิด-19 ที่ลอสแอนเจลิสมีทั้งแบบตรวจฟรีและเสียเงิน ทว่า แม้แต่กระทั่งตรวจฟรีก็สามารถจองคิวตรวจได้อย่างง่ายดาย

 

“ถ้าแบบตรวจฟรีมีทั้งตรวจเลือดที่เช็กว่ามีภูมิคุ้มกันหรือยัง มีแบบที่จิ้มจมูก แล้วก็แบบ Mouth Swab ที่แค่เอาสำลีก้านแหย่เข้าไปในปาก พวกนี้จะจองคิวในการตรวจง่ายมาก จองวันนี้พรุ่งนี้ไปก็ได้เลย จะไปกี่รอบ จะไปทุกวันก็ได้ เขาไม่ห้าม” ธนาวดีระบุ

 

นิคก็กล่าวในทำนองเดียวกัน เขาสะท้อนว่าลูกค้าบางคนก็ยังกลัวอยู่ และบางคนไม่กล้ามานวดที่ร้าน ในทางกลับกันการนวดตามบ้านที่เขาทำอยู่ตอนนี้ เขาบอกว่าทำรายได้ดีกว่านวดตามร้านไปแล้ว ส่วนตัวเขาเองก็อาศัยการตรวจเชื้อโควิด-19 แล้วสื่อสารกับลูกค้าเพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการเช่นกัน

 

ธุรกิจร้านนวดที่แคลิฟอร์เนีย

 

สำหรับอนาคตของอาชีพนวดไทยในสหรัฐอเมริกา นอกจากข้อกังวลที่แสงทองบอกกับเราเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายซึ่งเพิ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2020 ที่บังคับสถานะของหมอนวดให้เป็นลูกจ้างแทนที่จะเป็นผู้ทำสัญญาอิสระ และจะกระทบต่อต้นทุนการจ้างของนายจ้างที่สูงขึ้น ไปจนถึงการแข่งขันในธุรกิจที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวแล้ว ธนาวดีบอกว่าการกลับมาใช้บริการของลูกค้าน่าจะมากขึ้นกว่านี้เมื่อผู้คนได้รับวัคซีนครบถ้วนและมียอดผู้ป่วยใหม่ลดลง และนิควิเคราะห์ว่าสำหรับกลุ่มลูกค้าที่เป็นพนักงานประจำและไม่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ก็ยังคงใช้บริการร้านนวดอยู่ แต่หากร้านนวดกลับมาเปิดให้บริการได้เต็ม 100% อีกครั้ง ก็อาจจะมีคนส่วนน้อยที่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมจากนวดที่ร้านมานวดที่บ้าน เปลี่ยนพฤติกรรมกลับไปนวดที่ร้านอีกครั้งก็เป็นได้ แต่เขาเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก

 

และนี่คือส่วนหนึ่งจากคำบอกเล่าประสบการณ์ของคนไทยในรัฐแคลิฟอร์เนีย กับการฟันฝ่าช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของพวกเขา

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising