×

‘ต้นคล้า’ ไม้อะไรบานเช้าหุบเย็นเหมือนกำลังเต้นระบำ

04.09.2020
  • LOADING...

สิ่งมีชีวิตในโลกนี้ล้วนมีความพิเศษในตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่โลกของต้นไม้ เราเคยเห็นต้นไมยราบที่ใบหุบเวลาเอามือไปสัมผัส หรือกาบหอยแครงและหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ใช้ใบในการดักสัตว์กินราวกับนักล่ามือฉมัง แต่ยังมีต้นไม้หลากหลายพันธุ์ที่มีลักษณะพิเศษประจำตัวแบบที่ว่านี้ หนึ่งในนั้นคือ ‘ต้นคล้า’ (Calathea) ไม้ใบล้มลุกที่มีลวดลายบนใบเป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญยังมีฉายาที่ต่างประเทศเรียกขานกันว่า Prayer Plant ส่วนทำไมต้องเป็นพืชอธิษฐานนั้น เดี๋ยวเรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน

 

 

 

คนโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นคล้าจะช่วยคุ้มครองรักษาให้มีความสงบสุข เนื่องจากคำว่า ‘คล้า’ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ‘คลุ้ม’ ที่แปลว่าการคุ้มครอง นอกจากนี้ยังพ้องเสียงกับคำว่า ‘คล้าคลาด’ หรือแคล้วคลาดปลอดภัย จึงถือว่าคล้าเป็นไม้มงคลที่หลายคนนิยมปลูกไว้ติดบ้านเพื่อความสวยงามและสิริมงคลนั่นเอง

ต้นคล้าเป็นไม้ล้มลุกที่มีหัวอยู่ใต้ดิน แต่แตกใบขึ้นเป็นกอ แต่ละพันธุ์มีลักษณะพิเศษอยู่ที่ใบซึ่งมีลวดลายไม่เหมือนกันเพื่อแยกว่าต้นนี้พันธุ์อะไร ใบของคล้ามีลักษณะบางเหมือนกระดาษอ่อน เนื่องจากเวลาแตกใบใหม่จะม้วนขึ้นมาจากโคนเหมือนมวนยาสูบ ก่อนที่จะคลี่ออกมาอวดลวดลายแก่ผู้พบเห็น มีทั้งใบกลมรูปไข่ ใบเรียวแหลม และสีสันต่างกันไปตามชนิดของพันธุ์ คุณสมบัติอย่างหนึ่งของคล้าคือเป็นไม้ฟอกอากาศ หากนำมาไว้ภายในบ้าน นอกจากจะได้ความสวยงามแล้วยังช่วยฟอกอากาศบริสุทธิ์แม้เพียงนิดเดียวก็ตาม รวมถึงในต่างประเทศนิยมนำมาประดับตกแต่งภายในบ้านไม่แพ้ต้นยางอินเดียหรือมอนสเตอรา (สำหรับใครที่อยากหาไอเดียแต่งบ้านด้วยต้นคล้า ลองเสิร์ชคำว่า Calathea ใน Pinterest ดูสิครับ) เพราะด้วยลวดลายของใบ จะนำไปวางตรงไหนของบ้านก็ทำให้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นกว่าเดิม

ต้นคล้านิยมปลูกในร่มหรือที่ที่มีแดดรำไร เนื่องจากความบางของใบทำให้ไวต่อแสงเป็นพิเศษ หากนำไปวางไว้กลางแดดอาจจะเกิดอาการใบไหม้เหมือนกับไม้ใบทั่วไปเอาง่ายๆ ยิ่งเวลาแตกใบเป็นพุ่มยิ่งดูสวยงามมีราคาไปอีกแบบ แต่ความพิเศษของคล้ายังไม่หมดแค่นั้น เพราะมันมีลักษณะไม่ธรรมดาตรงที่สามารถอ้าหุบใบได้ตามเวลา คือใบจะบานรับแสงในยามเช้า แต่จะหุบชี้ขึ้นฟ้าในยามเย็น เพื่อให้หยาดน้ำค้างหรือละอองน้ำหลังคายจากใบไหลลงสู่โคนต้นด้านล่างได้ง่ายขึ้น ด้วยลักษณะของใบยามเย็นที่ชูชันขึ้นเหมือนการพนมมือไหว้นี้เอง ทำให้ต่างประเทศถึงกับตั้งฉายาแก่ต้นคล้าไว้ว่า Prayer Plant เลยทีเดียว

คล้าเป็นพืชที่มีความหลากหลายนับสิบสายพันธุ์จนคนปลูกอย่างเราแทบจะจำชื่อกันไม่หมด แต่เชื่อว่าถ้าใครได้เห็นหน้าตาของมันล้วนแต่ต้องร้องอ๋อในทันที เพราะต้นคล้ากระจายตัวอยู่ตามตลาดต้นไม้จนชินตา แถมยังมีราคาเป็นมิตรอีกด้วย (ยกเว้นบางพันธุ์ที่ราคาสูงเอาเรื่อง) เราอาจเคยได้ยินชื่อเหล่านี้ผ่านหูกันมาบ้าง เช่น คล้านกยูงแดง, คล้านกยูงเขียว, คล้าแววมยุรา, คล้าใบตอง, คล้าโมเสก, คล้าม้าลาย, คล้ากระต่ายชมจันทร์, คล้าขุนแผน, คล้าใบละร้อย, คล้าถุงเงิน ไปจนถึงคล้าด่างขาว ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าคล้าก็เป็นหนึ่งในไม้ที่มีความหลากหลายทางชีววิทยาเช่นกัน วันนี้เราจึงมานำเสนอ 5 สายพันธุ์ของคล้าที่น่านำเข้าบ้านทันทีที่พบเห็น อีกทั้งราคายังพอไปวัดไปวาได้เมื่อเทียบกับไม้ใบชนิดอื่น ใครอยากหนีความจำเจจากมอนสเตอราหรือยางอินเดีย รีบไปที่ตลาดต้นไม้แล้วบอกกับพ่อค้าแม่ค้าว่า ‘มาหาต้นคล้า’ กันเถอะ 

 

 


คล้าใบตอง (Calathea Orbifolia)
ถิ่นกำเนิดของคล้าใบตองอยู่ที่ประเทศโบลิเวีย แต่ตอนนี้ก็มาบุกตลาดประเทศไทยและกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากขนาดใบใหญ่ มีลวดลายพลิ้วไหวไปตามใบ ตัวใบเองก็มีความแอ่นโค้ง นิยมปลูกในร่มหรือภายในอาคารที่มีอากาศถ่ายเทและพอได้รับแสงเงาบ้าง ต้นคล้าเป็นพืชที่ชอบความชื้น แต่ไม่แฉะจนเกินไป เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้รากเน่าได้ ถึงแม้หลายสำนักจะบอกว่าต้นคล้าเลี้ยงยาก แต่หากควบคุมปริมาณน้ำและแสงให้ดีๆ มีแต่จะโตวันโตคืน 

 

 

คล้าโมเสก (Calathea Musaica)

ชื่อบอกอยู่แล้วว่าโมเสก ดังนั้นลักษณะของคล้าชนิดนี้จึงมีลวดลายบนใบคล้ายกับงานโมเสก ซึ่งเป็นงานศิลปะที่อาศัยเศษแก้วหรือกระเบื้องชิ้นเล็กๆ มาประดับประดาเป็นลวดลายต่างๆ เจ้าคล้าโมเสกก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีสีสันอะไรนอกจากเฉดสีเขียว แต่ก็มีลวดลายถี่เหมือนลายกระเบื้องวางต่อกัน อีกทั้งใบยังมีลักษณะบางและหยักจนเหมือนบิดงอ แต่จริงๆ แล้วคือฟอร์มของคล้าโมเสกอยู่แล้ว ไม่ต้องตกใจ ส่วนเรื่องการดูแลก็เช่นเดียวกับคล้าชนิดอื่นคือชอบความชื้น แต่ไม่แฉะ ฉะนั้นรดน้ำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็เพียงพอแล้ว

 

 

คล้านกยูงเขียวและคล้านกยูงแดง (Calathea Roseopicta)
คล้านกยูงเขียวหาได้ง่ายที่สุดแล้วตามตลาดต้นไม้ เช่นเดียวกับคล้านกยูงแดง ต่างกันที่สีของใบเท่านั้นเอง มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบบราซิล ลักษณะพิเศษของคล้านกยูงเขียวคือใบเดี่ยวขึ้นสลับกันเป็นพุ่ม ลวดลายบนใบเป็นการไล่เฉดสีเขียวจากเข้มไปอ่อนตัดกับก้านใบสีแดง ในขณะที่คล้านกยูงแดงจะมีใบสีโทนดำตัดด้วยลวดลายเส้นสีชมพู บางคนเรียกเจ้าคล้าชนิดนี้ว่าแบล็กพิงก์ นานๆ ทีอาจเห็นดอกของคล้านกยูงแทรกตัวขึ้นมาระหว่างใบ ดอกซ้อนชั้นกันเป็นช่อคล้ายดอกบัว และต้องระมัดระวังในเรื่องแสงเช่นเดียวกับคล้าชนิดอื่นๆ 

 

 

คล้าแววมยุรา (Calathea Makoyana)
ลวดลายของคล้าแววมยุราเหมือนมีกิ่งไม้แทรกตัวอยู่ในใบอีกชั้นหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วมันคือลวดลายของพันธุ์คล้าชนิดนี้ที่หลายคนอาจคิดว่านี่คือต้นไม้จริงหรือต้นไม้ปลอมกันแน่ คล้าแววมยุราเป็นอีกหนึ่งไม้มงคลของคนไทยที่นิยมปลูกไว้ภายในบ้าน เวลาแตกกอเป็นพุ่มยิ่งดูสวยงาม ความพิเศษอีกอย่างของคล้าแววมยุราคือใบจะมีสองสี ด้านบนจะเป็นเฉดสีเขียว แต่ด้านล่างจะเป็นเฉดสีแดงเข้ม ซึ่งจะสังเกตได้ชัดเจนตอนใบอ้าในยามเช้าและหุบในช่วงเย็น ถือว่าเป็นการปลูกต้นเดียวแต่เหมือนได้สองต้นในเวลาเดียวกัน 

 

 

คล้าขุนแผน (Calathea Sanderiana)
แม้ชื่อจะออกไทยๆ แต่ถิ่นกำเนิดนั้นอยู่แถบประเทศเปรูเสียส่วนใหญ่ คล้าแซนเดอเรียนาข้ามน้ำข้ามทะเลมาเจริญงอกงามที่ประเทศไทยจนได้ชื่อว่าคล้าขุนแผนในภายหลัง เป็นไม้ล้มลุกเติบโตเป็นกอเหมือนคล้าพันธุ์อื่นๆ ลักษณะใบเป็นลวดลายซี่ๆ มักจะตัดเส้นริ้วด้วยสีชมพูอ่อน แต่ยิ่งโตขึ้นเส้นริ้วจะเปลี่ยนจากสีชมพูกลายเป็นสีขาว ช่วยแยกได้ว่าต้นไหนอายุมากกว่ากัน

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • ต้นคล้ามีราคาตั้งแต่ต้นละ 100 บาทไปจนถึงหลายร้อย แล้วแต่สายพันธุ์และขนาดของลำต้น แต่พันธุ์ที่มาแรงสุดๆ ในเวลานี้ต้องยกให้คล้าใบตองและคล้าโมเสก
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X