วันนี้ (27 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2568 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ปี 2568 กรอบวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายรวม 2,055 ล้านบาท แบ่งเป็นขอรับสนับสนุนจากงบประมาณ 1,683 ล้านบาท, รายรับจากฝ่ายสิทธิประโยชน์ 200 ล้านบาท, ค่าจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน 20 ล้านบาท, ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ 134 ล้านบาท และค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ 16 ล้านบาท
สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้ เนื่องจากถึงรอบของประเทศไทยที่จะต้องเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ และขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนเสนอตัวเพื่อแข่งขันเป็นเจ้าภาพในปี 2568 ซึ่งครั้งล่าสุดที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์คือในปี 2550
ไตรศุลีกล่าวว่า สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ประกอบด้วยเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมอาเซียน, สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนนานาชาติ ให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศในทุกๆ ด้าน, สร้างรายได้ให้กับประเทศ เกิดการหมุนเวียนในระบบ โดยจะมีรายได้จากการใช้จ่ายเงินของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายเงินของนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้แทนองค์กรกีฬาต่างๆ และผู้สังเกตการณ์ ประมาณ 12,000 คน และประเทศไทยจะได้แสดงความเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา
ทั้งนี้ จะมีจังหวัดเป้าหมายที่จะร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เช่น สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี, จังหวัดชลบุรี เช่น ศูนย์กีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก บางละมุง, จังหวัดนครราชสีมา เช่น สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา, จังหวัดภูเก็ต สงขลา เช่น สนามกีฬาสุระกุล, จังหวัดสงขลา เช่น สนามกีฬาติณสูลานนท์ และกรุงเทพมหานคร เช่น สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามศุภชลาศัย พร้อมกันนี้ ระหว่างการประชุมได้มีการเสนอเพิ่มกลุ่มจังหวัดเป้าหมายอีก 1 พื้นที่ คือกลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล
ทั้งนี้ สนามสำหรับพิธีเปิดและพิธีปิดจะต้องมีความจุตั้งแต่ 20,000 ที่นั่งขึ้นไป ส่วนการถ่ายทอดสดการแข่งขันจะขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)