×

ครม. ทบทวนการชดเชย 1,600 ล้านบาท ให้ ธ.ออมสิน-ธ.ก.ส. กรณีปล่อยสินเชื่อช่วยโควิด-19 ดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน

31.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (31 มีนาคม) นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบทบทวนมติ ครม. เกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

 

ทั้งนี้ จากมติของ ครม. ให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ให้ปล่อยสินเชื่อกับประชาชนในโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทั้งสองธนาคารจะคิดดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน (1.2% ต่อปี) แต่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. มีต้นทุนผันแปร (Variable Cost) อยู่ที่ 2.56% และ 2.90% ตามลำดับ มาจากต้นทุนเงิน (Cost of Fund) อยู่ที่ 1.56% และ 1.90% ตามลำดับและค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรองอย่างน้อยธนาคารละ 1.00% ของสินเชื่อที่อนุมัติ

 

โดยกระทรวงการคลังเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อฯ โดยขอให้พิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการสินเชื่อฯ ของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จำนวนไม่เกิน 1,600 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน แบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 800 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีต่อๆ ไป

 

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อฯ ดังกล่าวเข้าข่ายลักษณะมาตรการหรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 และ 28 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 

 

ทำให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ต้องจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ได้รับมอบหมายแยกต่างหากจากบัญชีการดำเนินงานทั่วไป พร้อมทั้งเสนอรายงานผลการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ

 

ขณะเดียวกัน ประกาศคณะกรรมการฯ เรื่องกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

 

นอกจากนี้กระทรวงการคลังขอเรียนว่า ณ สิ้นวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 893,826.812 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.93% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 (วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท) หากรวมภาระทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ได้แก่

 

– โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562/63 (เพิ่มเติม) ของกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 682.86 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.02% ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 

– โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/63 ของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 10,236.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.32% ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 

 

ทั้งนี้ เมื่อรวมภาระการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจะมียอดคงค้างทั้งหมดเป็น 904,746.172 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28.27% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 โดยหากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.05% ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 906,346.172 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28.32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงไม่เกิน 30% ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X