วันนี้ (6 ตุลาคม) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายในกรอบวงเงิน 10,629.600 ล้านบาท แบ่งออกเป็นค่าจ้างงาน 60,000 อัตรา งบประมาณ 7,920 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ 3,000 ตำบล จำนวน 2,400 ล้านบาท (800,000 บาทต่อตำบล) และค่าบริหารจัดการโครงการ 309.600 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา รวม 60,000 ราย
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายสามารถเป็นผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการของภาครัฐที่ผ่านมาได้ แต่จะต้องไม่เป็นบุคคลที่ได้รับจ้างงานภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีจุดเน้นเกี่ยวกับการจ้างงานในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว โดยจะดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1. การจ้างงานตำบลละ 20 คน (จ้างนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทั่วไป) เพื่อดำเนินกิจกรรม ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) การเฝ้าระวังประสานงานและติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การจัดทำข้อมูลราชการในพื้นที่ที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานเพื่อการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ การสร้างและพัฒนา Creative Economy การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชนและการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม
2. การสนับสนุนการดำเนินโครงการ/กิจกรรมตามรูปแบบกิจกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่สถาบันอุดมศึกษารับผิดชอบตามบริบทของพื้นที่ให้แก่ชุมชน 3,000 ตำบล ได้แก่ การพัฒนาสัมมาชีพ และการสร้างอาชีพใหม่ (ยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ) การสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว)
3. การนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่างๆ) และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน)
4. สนับสนุนการบริหารจัดการและการดำเนินการของ National System Integrator และ Regional System Integrator และการดำเนินการของ System Integrator เพื่อบูรณาการโครงการและข้อมูลในภาพรวมของการดำเนินการ
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนทั่วไป เป็นประชาชนในพื้นที่หรือใกล้เคียงที่ว่างงานและไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง จากหน่วยงานอื่นของภาครัฐและเอกชน จ้างในอัตรา 9,000 บาทต่อเดือน, บัณฑิตจบใหม่ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี และมีความรู้ความสามารถที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน จ้างในอัตรา 15,000 บาทต่อเดือน และนักศึกษาหรือผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และมีความรู้ความสามารถที่ตรงต่อภารกิจในการปฏิบัติงาน โดยจ้างในอัตรา 5,000 บาทต่อเดือน
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับคือเกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของตำบลเป้าหมาย เกิดการจ้างงานที่ตอบสนองต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน
ทั้งนี้ อนุชายังเผยว่าทางกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะดำเนินการจ่ายค่าจ้างผ่านบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีการเชื่อมโยงข้อมูลการจ้างงานกับแพลตฟอร์มแรงงาน (Labour Platform) ของกระทรวงแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ซ้ำซ้อนกับโครงการ/มาตรการอื่นๆ ของภาครัฐ และกำหนดหลักการไม่ให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ นำกรอบวงเงินของโครงการไปดำเนินการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์