วันนี้ (15 กรกฎาคม) ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอแนะ มาตรการ หรือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน กรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจากประเทศเมียนมา ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ
ศศิกานต์กล่าวว่า จากสถานการณ์การปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลสู่ปัญหาร้ายแรงทางสุขภาพ รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่ดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในลุ่มแม่น้ำกก (แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันปัญหาขยายตัวสู่ลุ่มแม่น้ำโขง กสม. จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ดังนี้
มาตรการภายในประเทศ
- ให้กรมควบคุมมลพิษประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความถี่ของการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในพื้นที่เสี่ยง และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน รวมถึงพัฒนาระบบการเตือนภัยให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
- ให้กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคที่อาจเกิดจากโลหะหนัก ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- ให้การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย เร่งจัดหาน้ำดื่มสะอาดสำรองสำหรับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และวางแผนระยะยาวในการจัดหาแหล่งน้ำดิบที่ปลอดภัย พร้อมพัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อภาคเกษตรและการท่องเที่ยว และกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
- สนับสนุนงบประมาณสำหรับการขจัดสารพิษและฟื้นฟูแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน รวมถึงโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
- ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือเป็นหน่วยประสานหลัก และเสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติแต่งตั้งหรือปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่
มาตรการระหว่างประเทศ
- ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการเจรจากับประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อยุติกิจการเหมืองแร่ที่เป็นต้นเหตุของมลพิษ
- ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผล รวมถึงให้ประเทศในภูมิภาคพัฒนากฎหมายภายใน เพื่อรองรับการจัดการ ป้องกัน และเยียวยาผลกระทบจากปัญหามลพิษข้ามพรมแดน
ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และให้สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน