วันนี้ (30 พฤษภาคม) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในที่ประชุมสภาว่า การที่สมาชิกมีเรื่องกังวลในการกู้เงินครั้งนี้ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น ขอเรียนชี้แจงสมาชิกว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักไม่น้อยกว่า 2% เพื่อให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยรัฐบาลได้วางกรอบไว้อย่างครอบคลุม หากเกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นอีก เราจะได้เตรียมการรับมือ เป็นการบริหารตามมาตรฐานสากล นั่นคือยึดเป้าหมายความยั่งยืนของประชาชน มีความมั่นคงทางการเงินระยะยาว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณโครงการต่างๆ
อุตตม กล่าวถึงการจัดการเงินกู้ เบิกจ่ายเงินกู้ และการชำระเงินกู้ ซึ่งการบริหารจัดการจะทำโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงการคลังจะทำการกู้เงินด้วยแผนระยะยาว เพื่อให้กระจายตัวอย่างมีระบบ รวมถึงมีการบริหารความเสี่ยงด้วย ในส่วนของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน ขอยืนยันว่าไม่ใช่การกู้เงิน เราไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่เรากำลังเผชิญปัญหาเรื่องกลไกของสภาพคล่องที่ไม่ปกติในสถานการณ์ตอนนี้ พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นการให้อำนาจชั่วคราวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกระจายสภาพคล่องอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการหลักในการดูแลธุรกิจและผู้ประกอบการ SMEs รายเล็ก รายย่อย ที่มีพื้นฐานที่ดี เพื่อให้กระจายไปทั่วประเทศ นี่เป็นเพียงหนึ่งในชุดมาตรการ ไม่ใช่เป็นเพียงมาตรการเดียวในการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งยังมีมาตรการอื่นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกหลายทาง เนื่องจากว่าแต่ละธุรกิจก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นที่จะต้องมีหลายวิธีการในการดูแล
อุตตมยังกล่าวต่อว่า อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแล คือการทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกรายสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากธุรกิจ SMEs ถือเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากของประเทศ เราจึงต้องการสนับสนุน เกื้อหนุน ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งทรัพยากรและบุคลากรเพื่อให้เกิดความพร้อม และก้าวไปข้างหน้าได้ในช่วงภายหลังวิกฤตโควิด-19 วันนี้จึงไม่ได้หยุดแค่เรื่องการฟื้นฟู แต่รัฐบาลกำลังเดินไปข้างหน้าแล้ว
นอกจากนี้ อุตตมยังชี้แจงเรื่องการใช้งบกลาง โดยกล่าวว่า ในข้อเท็จจริงงบกลางปี 2563 ใช้มาประมาณ 8 เดือนแล้ว ไม่ใช่ 2 เดือนอย่างที่เข้าใจกัน โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ซึ่งงบกลางมีการตั้งงบในทุกๆ รัฐบาลเหมือนกัน วงเงินประมาณ 450,000-500,000 ล้านบาท โดยในงบประมาณจำนวนนี้ 440,000 ล้านบาทเศษ เป็นงบรายจ่ายประจำ เช่น ค่าเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง คงเหลือสำหรับสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินอยู่ประมาณ 96,000 ล้านบาท รัฐบาลได้นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในส่วนของโครงการเยียวยา ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเยียวยากลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของงบประมาณ และจะพยายามช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างแท้จริง ซึ่งมีความสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินการของประเทศอื่นๆเช่นเดียวกัน ฐานข้อมูลอาจต่างกันบ้าง สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีการพูดถึงกันมากคือ กลุ่มอาชีพอิสระ
อุตตมกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าหมายก่อนว่าจะจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทจำนวนกี่ราย แต่ต้องการความมั่นใจก่อนว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะได้รับเงินเยียวยาครบถ้วน จึงมีการเสนอขยายกลุ่มเป้าหมายมาโดยตลอด ซึ่งมีเหตุผลความจำเป็นและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ส่วนเรื่องการคัดกรอง รัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องการพิสูจน์ความจริง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ช่วยเหลือได้ถูกตัว เพราะนี่คือเงินงบประมาณ ไม่ใช่เป็นการพิสูจน์ความยากจน รัฐบาลทราบดีว่าปัญหาความยากจน เป็นปัญหาที่สั่งสมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้ว่าประชาชนคนไทยจะได้รับผลกระทบกันทุกคน แต่เราก็ต้องมีเป้าหมายในการเยียวยาที่ชัดเจน
ทั้งนี้ อุตตมยอมรับว่าที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้มีฐานข้อมูลประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ แรงงาน ลูกจ้าง จึงมีความจำเป็นต้องลงทะเบียน เพื่อพิสูจน์ยืนยันตัวตนเท่านั้น ไม่ใช่คัดกรองตัดสิทธิ์ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความยุ่งยาก แต่นี่คือความจำเป็น แล้วนำข้อมูลที่ได้มารวบรวม มาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างมากในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum