วันนี้ (30 พฤษภาคม) มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ธุรกิจ SMEs เปรียบเสมือนรากฝอยของเศรษฐกิจที่ยึดโยงจนเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ เพราะช่วยสร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นหัวใจในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นจุดเชื่อมโยงของช่องว่างระหว่างชนชั้นของสังคม เป็นจุดเริ่มต้นของคนตัวเล็กทุกๆ คนที่ต้องเรียนรู้เพื่อเติบใหญ่ ดังนั้น มาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนที่รัฐบาลและ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการนั้น จึงนับเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็เข้าใจถึงข้อจำกัดของรัฐบาลและ ธปท. ที่ต้องใช้เงินซึ่งถือเป็นเงินของงบประมาณแผ่นดินด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด การออกกฎระเบียบจึงทำให้มีข้อจำกัดในการปฏิบัติหลายประการ ทำให้ SMEs ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวในปริมาณน้อย ไม่มากเท่าที่ควร
วทันยา กล่าวถึงสาระสำคัญของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน นั่นคือ 1. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลน 0.01% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์กู้ แล้วนำไปปล่อยสินเชื่อต่อไปยังผู้ประกอบการรายย่อย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ระยะเวลา 2 ปี เพื่อเป็นเงินทุนฉุกเฉินให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยบรรเทาภาระโดยให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบดอกเบี้ย 6 เดือนแรกแทนผู้ประกอบการ และธนาคารพาณิชย์งดเก็บค่าธรรมเนียมทุกประเภทในการขอสินเชื่อ และ 2. มาตรการชะลอการชำระหนี้โดยให้อำนาจ ธปท. สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจ ชะลอการชำระหนี้และดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งทำให้ไม่ติดแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโร
วทันยากล่าวต่อมาว่า จากที่สอบถามผู้ประกอบการหลายราย ได้รับแจ้งจากธนาคารพาณิชย์ว่าวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนของ ธปท. นั้น ปิดรับเพราะวงเงินสินเชื่อนั้นเต็มแล้ว แต่ทาง ธปท. ยืนยันว่ายังคงมีวงเงินเหลือสามารถกู้ได้อยู่ ก็คงต้องรอติดตามความคืบหน้าในการขอสินเชื่อนั้นว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ แต่ในส่วนของผู้ที่ขอสินเชื่อแล้วได้รับการอนุมัติเรียบร้อย พบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือมีผลประกอบการดี ในอดีตธุรกิจมีสภาพคล่องจึงพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินน้อย เมื่อธุรกิจประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องการกู้เงินจากโครงการ แต่ด้วยข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ในมาตรา 9 ที่กำหนดให้ปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลหนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 นั้น หลายรายจึงได้รับเงินกู้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ส่วนตัวก็เข้าใจถึงเจตนาของ ธปท. ที่ต้องการกำหนดเพดานวงเงินเพื่อให้เงินดังกล่าวถูกนำไปกระจายให้ผู้ประกอบการได้มากที่สุด ซึ่งข้อระมัดระวังเหล่านี้ หลายครั้งเรามักพบว่าในแง่ของการปฏิบัติจริงทำให้เกิดข้อติดขัดที่ทำให้การช่วยเหลือไม่สามารถไปถึงยังมือผู้ที่เดือดร้อนได้อย่างเหมาะสมเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อกังวลในการปฏิบัติ คือธนาคารพาณิชย์อาจยังมีแรงจูงใจไม่เพียงพอ หรือรายรับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงในอนาคต และในมาตรา 11 ของ พ.ร.ก. ยังกำหนดให้กระทรวงการคลังช่วยชดเชยเงินกู้ส่วนหนึ่งหากเกิดหนี้เสีย หรือ NPL ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ แต่มาตรา 10 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ ธปท. โดยมีเงื่อนไขต้องชำระคืนเงินกู้ภายใน 2 ปีพร้อมดอกเบี้ย หนี้เสียที่เกิดขึ้นเมื่อเลยวันครบกำหนดชำระจะตกเป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศและทั่วโลกต้องหยุดชะงักเช่นนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายประเภทธุรกิจนั้นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยอีก 1-2 ปีจึงจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมได้ การให้รัฐเป็นผู้ร่วมชดเชยหนี้เสียจึงไม่อาจคลายความกังวลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ SMEs ได้ทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มประเภทที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ปกติถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้สำคัญของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการเห็นถึงประโยชน์ในการแบ่งเบาภาระต้นทุนทางการเงิน แต่ในมุมของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นองค์กรประกอบธุรกิจเพื่อแสวงผลกำไรนั้น อาจแตกต่างออกไป เพราะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของรายได้ต่อความเสี่ยงของภาระที่อาจตามมาในอนาคต ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ SMEs เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ในเวลาที่ต้องการ
ทั้งนี้ วทันยาได้ฝากข้อเสนอแนะคือ ในอีก 6 เดือนข้างหน้าเมื่อสินเชื่อต่างๆ ที่ได้รับการผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยและการชำระหนี้แล้ว ธปท. รัฐบาลควรหารือกับธนาคารพาณิชย์ และสอบถามความเห็นไปยังผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อกำหนดมาตรการที่ชัดเจน รัดกุม ไร้ช่องว่างในการปฏิบัติ หรือให้มีช่องว่างน้อยที่สุดในการเตรียมรับมือ หากยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะชำระดอกเบี้ยและสินเชื่อที่มีอยู่ แม้ในปัจจุบันได้มีข้อกำหนดเบื้องต้นจาก ธปท. ห้ามเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ในคราวเดียวกันทีเดียว แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวคงยังไม่เพียงพอในการรองรับปัญหาทั้งหมด
วทันยากล่าวว่าโดยส่วนตัว เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐบาลและ ธปท. ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ แต่ก็ต้องพึงระวังถึงการใช้งบประมาณของประเทศ ซึ่งจากระเบียบดังกล่าวจะเห็นได้ว่า SMEs นั้นยังคงได้รับประโยชน์อยู่น้อย หวังว่าผู้ให้และผู้ปฏิบัติจะพยายามหามาตรการหรือทางช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม และในส่วนของเงินกู้จาก พ.ร.ก. เราไม่ทิ้งกัน ฉบับแรก วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่จะใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ หากถูกนำมาว่าจ้าง SMEs เพื่อให้สามารถดูแลลูกจ้างของตนเองให้เกิดการจ้างงานต่อไป ก็จะเป็นประโยชน์ในการใช้เงินอย่างยิ่ง หากนโยบายไหนที่ถูกนำไปใช้แล้วเป็นประโยชน์ก็ควรได้รับการสานต่อในการวางกรอบงบประมาณประจำปีต่อๆ ไป เพื่อให้เงิน 400,000 ล้านบาทที่เปรียบเหมือนหัวเชื้อนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด
วทันยากล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ก็เป็นวันที่ 30 พฤษภาคมแล้ว ทุกคนในที่นี้ รวมถึงข้าราชการและลูกจ้างบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เมื่อวานคงจะได้รับเงินเดือนเพื่อไปชำระค่าใช้จ่ายของแต่ละบุคคล แต่ในทางกลับกัน เมื่อวานนี้ (29 พฤษภาคม) คือวันที่ SMEs ได้รับผลกระทบร้อนใจมากที่สุดอีกวันหนึ่ง ว่าเขาจะเอาเงินที่ไหนจ่ายเงินเดือนพนักงาน และภาระหนี้ต่างๆ ซึ่งพนักงานเหล่านั้นก็อาจจะเป็นพ่อ เป็นแม่ของเด็กสักคนหนึ่งที่กำลังรอค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล หรือแม้กระทั่งค่าอาหารสักมื้อ ทุกอย่างล้วนแต่เกี่ยวข้องอยู่ในสังคมไทยอย่างแยกไม่ออก และพวกเราที่อยู่ที่นี่ ก็มองเห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนเหมือนกัน เชื่อว่าเราทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs รวมถึงชีวิตเหล่านั้น
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม Support By Nikon Sales (Thailand)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum