×

จิรวัฒน์ ชี้เยียวยากลุ่มผู้เปราะบางไม่ครอบคลุม ต้องพิสูจน์สิทธิ์ แนะปรับ ครม. เปลี่ยนขุนคลัง

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (28 พฤษภาคม) ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ในการอภิปรายกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563, พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนและมีการบังคับใช้แล้วก่อนที่จะส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งดำเนินการอภิปรายมาเป็นวันที่ 2 แล้วนั้น

 

จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทรับมือโควิด-19 กรณีวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ที่จะนำมาเยียวยาประชาชนนั้น ตนอยากขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ย้อนกลับไปดูการทำงานเยียวยาในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาลว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด โดยให้ย้อนดูจำนวนตัวเลขทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย ซึ่งตนยอมรับว่าจัดการได้ดีในส่วนนี้ แต่ถ้าถามถึงชัยชนะต่อสถานการณ์ตนไม่อาจตอบได้ ต้องขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเพราะประชาชนและระบบเศรษฐกิจคือผู้แบกรับต้นทุนของการใช้อำนาจกฎหมายและนโยบายมาตรการปิดเมืองของรัฐบาล ในขณะที่ตัวเลขกระทรวงการคลัง 98-99% เป็นความดีใจบนคราบน้ำตาของความหิว ความหวัง ความโกรธในความเชื่องช้าของการเยียวยา

 

จิรวัฒน์ กล่าวว่า ยิ่งกว่านั้น ในกระบวนการลงทะเบียนเพื่อรับการเยียวยา เกิดกรณีเว็บล่มตั้งแต่วันแรกที่มีการลงทะเบียนเยียวยา สิ่งที่รัฐเคยประกาศว่าใช้ระบบ AI ในการคัดกรอง ประชาชนต้องพบเจอการปฏิเสธสิทธิ์อย่างผิดพลาดกับการระบุสถานะ อาชีพ ฯลฯ และที่เลวร้ายที่สุดคือประชาชนมากมายไม่อาจเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่มีทั้งอุปกรณ์ ไม่มีทั้งอินเทอร์เน็ต ต้องเดือดร้อนไปจ้างวานผู้อื่นให้ลงทะเบียนแทน สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทำได้ ณ ตอนนั้นคือส่วนราชการต้องให้บริการประชาชนอย่างที่พรรคก้าวไกลเองตั้งจุดบริการรับกรอกข้อมูลส่วนนี้ ตนจึงมีคำถามว่า AI ที่ว่านั้นมีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการโฆษณาว่าเป็นรัฐบาลดิจิทัล 4.0 ในขณะที่ผู้ทำระบบเองซึ่งผ่านการทำ ชิมช้อปใช้, เราไม่ทิ้งกัน มาแล้ว ออกมาเปิดเผยผ่านการไลฟ์ว่า AI ที่ใช้เป็นแบบพื้นฐาน ยังต้องอาศัยแรงงานคนกรอกข้อมูล หมายความว่าสุดท้ายรัฐต้องนำข้อมูลกว่า 28 ล้านข้อมูลนั้นไปให้ข้าราชการตรวจสอบอยู่ดี ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ใช้ฐานข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้วมาตั้งแต่ต้นอย่างที่หลายๆ ประเทศทำกัน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนงานรวดเร็วโดยอาจใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ถ้ารัฐทำตามฐานข้อมูลมาตั้งแต่ต้น งบประมาณที่ใช้วันนี้กับสิ่งที่จ่ายตรงไม่ต่างกัน สรุปได้เลยว่าการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง ล่าช้า ผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพ

 

ย้อนกลับมาที่งบลงทุนของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน 6 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบโครงสร้างไอซีที มีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท ตนขอถามว่ารัฐบาลดิจิทัล 4.0 นั้นมีจริงไหม ทั้งๆ เคยประกาศวิสัยทัศน์รัฐบาลดิจิทัล เมื่อ 8 มีนาคม 2560 ว่าภายใน 5 ปีรัฐจะต้องมีการทำงานแบบอัจฉริยะ มีการบริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐยังประกาศพัฒนาระบบคลาวด์กลางต่อเนื่อง 3 ปี 2563-2565 เป็นเงิน 4.7 พันล้านบาทอีกด้วย

 

จิรวัฒน์ กล่าวว่า การทำงานที่ไม่รัดกุมในการเยียวยา ยังส่งผลให้เห็นเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยต้องมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 4 ครั้ง ขยายผู้ได้รับการเยียวยาเรื่อยๆ จาก 3, 9, 14 และ 16 ล้าน แสดงให้เห็นถึงความไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่เคยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการคิด และยังเกิดกรณีการจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้า แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานและยังมีการหยุดชะงักในวันหยุดราชการ จากวันที่เริ่มจ่ายวันแรก 8 เมษายน ถึงขณะนี้มีวันหยุดที่ประชาชนจะต้องบวกเพิ่มการรอไปแล้วถึงกว่า 10 วัน ตนอยากจะบอกว่าราชการหยุดแต่ความหิวของคนไม่มีวันหยุด จะอ้างว่าโอนเงินไม่สะดวกระบบธนาคารปิดก็ไม่อาจอ้างได้ เพราะพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นให้อำนาจเต็ม ในขณะที่ผู้ปฏิบัติราชการมากมายกลับเอาอำนาจจาก พ.ร.ก. นี้มาใช้หาประโยชน์จากประชาชน

 

“ในฐานะที่เป็น ส.ส. ขอเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปพบกับประชาชนผู้พิการกว่าร้อยคนในบ้านของพวกเขาเองจากการที่ไปเยี่ยมพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียงที่ยิ่งลำบากในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มเงินผู้พิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท 2 ล้านคน แต่จะจ่ายเดือนตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตาม 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ครม. เพิ่งมีมติเยียวยากลุ่มผู้เปราะบาง ประกอบด้วยเด็ก 0-6 ปี 1.4 ล้านคน ผู้สูงอายุ 9 ล้านคน ผู้พิการ 2 ล้านคน แต่ทั้งหมดนั้นก็ช้าไปและไม่ทั่วถึง คิดเพียงจำนวนเด็กอย่างเดียวก็เกินที่รัฐระบุตัวเลขจะเยียวยาแล้ว แสดงว่าแม้ในเด็กก็ยังต้องมีการพิสูจน์ความจน ซึ่งถ้าเป็นพรรคก้าวไกลขอเสนอว่า เด็ก อายุ 0-18 ปี ให้จ่ายเยียวยารายละ 3,000 บาท ต่อ 3 เดือน ถ้วนหน้า” จิรวัฒน์กล่าว

.

จิรวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะที่ ศบค. แถลงอย่างดีใจในชัยชนะของการมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตน้อย รัฐต้องอย่าลืมมองประชาชนที่อยู่ในความยากลำบาก ลองคิดถึงตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตจากผลกระทบสถานการณ์เศรษฐกิจบีบคั้น เกิดซึมเศร้าในคนหลายๆ อาชีพจนตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 คน โดยล่าสุด 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ความเครียดจากการรับทราบข่าวขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินทำให้เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งกระโดดตึก 3 ชั้นบาดเจ็บสาหัส พอหรือยังกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่บอกว่าสุขภาพนำเสรีภาพนั้น ที่จริงตนคิดว่ามันคือความมั่นคงทางการเมืองนำสุขภาพและเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งหากรัฐอยากให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น ตนแนะให้ปรับ ครม. กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะถ้าอยากให้ดีที่สุดต้องปรับให้เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนบนกติกาที่ถูกต้องและบริหารงานเป็น และขอฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า เงินเยียวยาเหล่านี้คือเงินของประชาชน ไม่มีความจำเป็นต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาล เพราะมันคือหนี้ของทุกคนที่จะต้องชดใช้กันไปรุ่นสู่รุ่น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X