×

ครม. เคาะ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เยียวยาโควิด ขยายเวลารับ 5,000 บาท ออกไปเป็น 6 เดือน

โดย THE STANDARD TEAM
07.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (7 เมษายน) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1 ล้านล้านบาท มาจาก พ.ร.ก. กู้เงิน ส่วนอีก 9 แสนล้านบาท จะเป็นผลมาจากการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน พ.ร.ก. 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. ออกเงินกู้พิเศษเพื่อดูแลภาคเศรษฐกิจดูแล SMEs 5 แสนล้านบาท และดูเสถียรภาพการเงินอีก 4 แสนล้านบาท

 

สำหรับ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นกรอบการกู้เงินซึ่งจะดำเนินการกู้เงินได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยจะเป็นการทยอยกู้ ไม่ใช่กู้เงินทีเดียวมาวางกองไว้ 

 

ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทจากการกู้เงิน จะนำมาใช้ในแผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 6 แสนล้านบาท โดยเยียวยาประชาชนโครงการเราไม่ทิ้งกันเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ขยายเพิ่มจาก 3 เดือน) แต่ยังคงจำนวนคนไว้ที่ 9 ล้านคน โดยจะยึดตรงนี้ไว้ก่อน ส่วนสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจะพิจารณา

 

นอกจากนี้จะมีมาตรการเยียวยาเกษตรกร ซึ่งจะประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการต่อไป รวมด้านสาธารณสุข ซึ่งจะดูแลและจัดการไว้เพิ่มเติม

 

ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท เป็นแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 

 

สำหรับขั้นตอนต่อไปของ พ.ร.ก. กู้เงิน จะส่งให้กฤษฎีกาพิจารณา เมื่อผ่านแล้วจะจัดทำร่างระเบียบการใช้งบประมาณเพื่อให้หน่วยงานทั้งหลายนำไปปฏิบัติ และทูลเกล้าลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ คาดว่าจะบังคับใช้ในเดือนเมษายนนี้

 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะหาแหล่งกู้เงินที่เหมาะสม และการกู้เงินจะเริ่มต้นในต้นเดือน พฤษภาคมนี้

 

นอกจากนี้จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการทำหน้าที่กลั่นกรองแผนงานต่างๆ ที่ส่งเข้ามา เพื่อรับการพิจารณาใช้วงเงิน 1 ล้านล้านบาทนี้ และเข้า ครม. เพื่อรับการเห็นชอบก่อน

 

สำหรับการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนี้ จะทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีอัตราหนี้สาธารณะต่อจีดีพีร้อยละ 57 ซึ่งยังไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X