คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายเวลาปรับลดเงินนำส่งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) แบงก์รัฐบาล 4 แห่ง เหลือ 0.125% อีก 1 ปี หวังช่วยลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งผ่านการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงลูกหนี้นอกระบบ
วันนี้ (16 กรกฎาคม) พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้า SFIF ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่งที่มีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุน ได้แก่
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
โดยปรับลงกึ่งหนึ่งจาก 0.25% ต่อปี เป็น 0.125% ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ของรอบการนำส่งเงินในปี 2567 ซึ่งเป็นการปรับลดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด
เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งผ่านการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงลูกหนี้นอกระบบ เพื่อให้โอกาสลูกหนี้ในการฟื้นตัวและกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติได้มากขึ้น
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้สั่งการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่งจัดทำมาตรการหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือและผ่อนปรนภาระให้กับลูกหนี้ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้อย่างยั่งยืน
โดยคาดว่าจะมีลูกหนี้ได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2567 ประมาณ 5.04 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1.18 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับลูกหนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหนี้และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากต่อไป