ครม. อนุมัติวงเงินงบประมาณปี 2569 จำนวน 3.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.79 หมื่นล้านบาท แต่กู้เงินชดเชยขาดดุลลดลงจากปีก่อนเหลือ 8.6 แสนล้านบาท เหตุคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มถึง 3 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (7 มกราคม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 3.78 ล้านล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปีก่อนหน้าราว 2.79 หมื่นล้านบาท (งบประมาณปี 2568 อยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 0.7%
อย่างไรก็ตาม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2569 รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุล ‘ลดลง’ จากปีงบประมาณ 2568 ราว 5 พันล้านบาท โดยการขาดดุลการคลังหรือเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2569 ลดลงเหลือ 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของ GDP ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2569 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) และอัตราเงินเฟ้อ (GDP Deflator) ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7% (ค่ากลาง 1.2%)
โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้การขาดดุลการคลังปี 2569 ลดลง เนื่องมาจากรัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อยู่ที่ 2.92 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2569
ทั้งนี้ การขาดดุลการคลังคือการที่รายจ่ายของรัฐมีขนาดสูงกว่ารายรับ โดยการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณหมายความว่ารัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว
โดยตามแผนการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลคาดว่าหนี้สาธารณะปี 2569 จะเพิ่มขึ้นแตะ 13.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 67.3% ต่อ GDP จากระดับปัจจุบันที่ 64.41% (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2567)
ลั่น! การขาดดุลงบประมาณ ‘ระดับสูง’ เป็นสิ่งจำเป็น
จุลพันธ์ย้ำว่า การขาดดุลงบประมาณที่อยู่ในระดับสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า พร้อมทั้งยืนว่า กระบวนการตั้งงบประมาณดูวินัยการคลังและกำหนดสัดส่วนต่างๆ ตามที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดไว้หมดแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปคือการจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสม
สำหรับโครงสร้างงบประมาณปี 2569 คร่าวๆ ประกอบด้วย
- รายจ่ายประจำ จำนวน 2,645,858.90 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 123,541.10 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของวงเงินงบประมาณ
- รายจ่ายลงทุน จำนวน 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.7%
- รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 151,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4%