วันนี้ (4 มิถุนายน) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการเข้าร่วมกิจกรรมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และการรับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ และเห็นชอบต่อร่างความตกลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกด้านต่างๆ 3 ฉบับ
ชัยกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้รับทราบพัฒนาการของการเจรจาและแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ตลอดจนการจัดทำข้อริเริ่มและการดำเนินโครงการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญอื่นๆ ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับผู้นำ IPEF รับรองถ้อยแถลงระดับผู้นำฯ โดยเฉพาะการลงนามร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 และการสรุปผลการเจรจาร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม พร้อมทั้งจะสานต่อการเจรจาร่างความตกลงสำหรับเสาความร่วมมือที่ 1 ด้านการค้า ตลอดจนแสวงหาข้อริเริ่มความร่วมมือเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน
โดยร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย
- ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง มีสาระสำคัญเพื่อจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนและติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือ IPEF ในระดับรัฐมนตรี
- ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 9 หมวด รวม 38 ข้อ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ กรอบการระดมทุน นโยบาย มาตรการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการลงทุนที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กำจัดคาร์บอน และเพิ่มการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ
- ร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity Agreement Relating to a Fair Economy) ประกอบด้วย 4 หมวด รวม 35 ข้อ โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการด้านการต่อต้านการทุจริตและการบริหารจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ ข้างต้นทั้ง 3 ฉบับเป็นไปตามกรอบการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก และกรอบการเจรจา (เพิ่มเติม) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ และวันที่ 10 ตุลาคม 2566
โดยประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการดึงดูดการลงทุนด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสาขาต่างๆ ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการระดมทุนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และช่วยเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยไปสู่การยกระดับมาตรฐานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจตามหลักธรรมาภิบาล
ชัยกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีความเป็นกลางอย่างแท้จริงในเวทีสากล สัปดาห์ที่แล้ว ครม. อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมสมาชิก BRICS ในวันนี้เราเห็นชอบความร่วมมือกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)
“ฉะนั้นจะเห็นว่า ประเทศไทยหากที่ไหนมีโอกาสวิน-วินที่จะสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน เราไม่แบ่งค่ายเราเข้ากับทุกคน และสุดท้ายก็จะเห็นว่าถ้าไปกระทบกับพี่น้องประชาชนให้ต้องย้ายถิ่นที่อยู่ รัฐบาลก็ดูแลอย่างดี มีค่าขนย้าย มีค่าชดเชย ที่อยู่ใหม่ก็ดูแลเรื่องสาธารณูปโภคอย่างเต็มที่ ไม่มีการปล่อยปละละเลย” ชัยกล่าว