×

ครม. เคาะ ลดการจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca เหลือ 35.4 ล้านโดส จากเดิม 60 ล้านโดส เพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป

โดย THE STANDARD TEAM
21.06.2022
  • LOADING...
AstraZeneca

วันนี้ (21 มิถุนายน) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสาระสำคัญของการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิดสำหรับบริการประชากรในประเทศไทยจำนวน 60 ล้านโดส ในปี 2565 โดยปรับลดการจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca จากเดิม 60 ล้านโดส กรอบวงเงิน 18,762.5160 ล้านบาท เป็นการจัดซื้อวัคซีน AstraZeneca จำนวน 35.4 ล้านโดส กรอบวงเงิน 11,069.8845 ล้านบาท  

 

และเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody: LAAB) จำนวน 257,500 โดส กรอบวงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท ซึ่งทำให้กรอบวงเงินโดยรวมของโครงการปรับลดไป 123.41 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 18,762.5160 ล้านบาท เหลือ 18,639.1073 ล้านบาท พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการจากเดือนกันยายน 2565 เป็นเดือนธันวาคม 2565 โดยให้กรมควบคุมโรคบริหารการจัดการและการกระจายวัคซีนโควิดอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เพียงพอสำหรับประชาชนภายในประเทศและไม่เหลือทิ้ง

 

“ในปี 2565 นี้ ประชากรในประเทศมีความต้องการวัคซีนโควิดลดลง ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้วัคซีนสำรองในประเทศเพียงพอ กรมควบคุมโรคจึงพิจารณาปรับแผนการจัดซื้อวัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยปรับลดจำนวนวัคซีน AstraZeneca จาก 60 ล้านโดสเป็น 35.4 ล้านโดส  

 

“ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 บริษัทได้ส่งมอบวัคซีนแล้วจำนวน 13.2 ล้านโดส ซึ่งจะได้มีแผนรับมอบจำนวน 11.2 ล้านโดสภายในปี 2565 ส่วนที่เหลืออีก 11 ล้านโดสคาดว่าจะได้รับมอบภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566” ธนกรกล่าว  

 

ธนกรกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตหากมีการติดเชื้อ แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เกิดภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถสร้างแอนติบอดีจากวัคซีนได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) จำนวน 257,500 โดส โดยมุ่งใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 3 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันการป่วยได้ถึงร้อยละ 83  

 

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะมีการปรับแผนรับมอบวัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ความต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ภายในประเทศ และลดการสูญเสียกรณีวัคซีนหมดอายุด้วย

 

ธนกรกล่าวด้วยว่า ครม. ยังอนุมัติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด (ChulaCov19 mRNA) เพื่อทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1-3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนรับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเป็นเดือนธันวาคม 2565 โดยมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด (ChulaCov19 mRNA) ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด และยังช่วยยกระดับห่วงโซ่การผลิตวัคซีนภายในประเทศ และลดความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคอุบัติใหม่ของประเทศด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X