วันนี้ (11 ธันวาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมมติ (ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อให้แก้ไขปัญหาหนี้สินได้ โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืนขึ้น
สำหรับมาตรการ ได้แก่ การลดการชำระหนี้และดอกเบี้ยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เน้นการตัดเงินต้นและดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อให้ลูกหนี้สามารถรักษาทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงสถานประกอบการของตนเองไว้ได้ การให้โอกาสลูกหนี้ NPL ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท สามารถปิดหนี้ได้ ซึ่งสำรวจไว้แล้วสำหรับลูกหนี้ที่มียอดไม่เกิน 5,000 บาท ให้รับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถปิดบัญชีนี้ได้ และเคลียร์เครดิตปรับปรุงประวัติการชำระหนี้ด้วย รวมถึงเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไปในอนาคตได้
นอกจากนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังช่วยเหลือมาตรการลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั้งลูกหนี้ที่มีประวัติชำระหนี้ดี เพื่อที่จะให้กำลังใจรักษาวินัยการเงินการครั้งต่อไป และลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้เรื้อรังยังมีมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ของกลุ่มนอนแบงก์ (Non-Bank) โดยการลดภาระผ่อนชำระค่างวดเหลือร้อยละ 70 และลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 จากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งรายละเอียดจะให้ทางกระทรวงการคลังเสนอในรายละเอียดทุกอย่าง
เริ่มจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท เริ่ม 16 ธันวาคมนี้
แพทองธารเปิดเผยอีกว่า ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงการคลัง เสนอแนวทางดำเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคาร 4 แห่ง โดยให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมเบื้องต้นจำนวน 16,794 ราย และที่แจ้งเพิ่มเติมภายหลังให้ได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการ
โดยต้องไม่เกินกรอบเงินของงบประมาณที่เคยผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้ว นั่นคือ 15,481.66 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ นอกจากนี้ได้รับรายงานจากกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกว่า การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เรื่องของโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประจำปีการผลิต 2567/68
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้และลดต้นทุนการผลิตการเกษตรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นหรือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท กระทรวงการคลังจะเริ่มจ่ายเงินให้กับเกษตรกรจำนวน 4.3 ล้านราย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.5 หมื่นล้านบาท และจะเริ่มแจกจ่ายเงินในวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมนี้ เริ่มจ่ายในแต่ละภาคโดยใช้ระยะเวลาภาคละ 5 วัน
เห็นชอบข้อตกลงจัดหาวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร 2,220 โดส
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหนังสือข้อตกลงการจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อโรคฝีดาษวานรตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจากโรคฝีดาษวานรเป็นโรคที่ต้องใช้วัคซีน โดยเงินที่จัดหาเป็นเงินที่เคยใช้จัดซื้อวัคซีนโควิดซึ่งเหลืออยู่ ขณะนี้ประเทศบรูไนเก็บเงินไว้ จึงนำมาใช้จัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อโรคฝีดาษวานรจำนวน 2,220 โดส
โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อประเทศไทยรับวัคซีนนี้มาใช้แล้วต้องใช้ความระมัดระวัง หากเกิดความเสียหายประเทศไทยต้องรับผิดชอบ ซึ่งประเทศไทยรับหลักการนี้ได้ เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ จะใช้วัคซีนนี้ฉีดให้เจ้าที่ที่อยู่ตามด่านศุลกากรต่างๆ และเจ้าหน้าที่ที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก
อนุมัติ 472.67 ล้านบาท ช่วยค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง
คณะรัฐมนตรียังมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใช้จ่ายงบประมาณในวงเงิน 472.67 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2567 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน
โดยเป็นกรอบวงเงินของ กฟน. และ กฟภ. เบิกจ่ายเงินจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้ ส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง (19.05 สตางค์ต่อหน่วย) ประจำเดือนกันยายน 2567 การไฟฟ้านครหลวงช่วยเหลือจำนวน 2.31 ล้านราย เป็นจำนวนเงิน 74.32 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคช่วยเหลือจำนวน 16.55 ล้านราย เป็นเงินจำนวน 398.35 ล้านบาท
ตั้งลูกหลานนักการเมืองเพื่อไทยล็อตใหญ่
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ โดยแต่งตั้ง ประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังมีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 16 ราย ดังนี้ พล.ต.ท. พัฒนวุธ อังคะนาวิน, ภัทร บุญประกอบ, ตรีชฎา ศรีธาดา, ธนวรรษ เพ็งดิษฐ์, ณัฐณิชา บุรณศิริ, ภูวเดช นพฤทธิ์, จุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์, ธงทอง นิพัทธรุจิ, ปรมาภรณ์ บริบูรณ์, ชนิสรา โสกันต์, นนทภูมิ ตั้งปณิธานนท์, พงศกร รัตนเรืองวัฒนา, ตติยภัทร์ ปิติเศรษฐพันธุ์, ณริยา บุญเสรฐ, ภัทร ภมรมนตรี และ อรทัย เกิดทรัพย์