เมื่อวานนี้ (29 กันยายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่) พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ต้องออกเพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยกำลังจะสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา WCT
สาระสำคัญคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เกี่ยวกับอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี ข้อจำกัดความรับผิดชอบของผู้ให้บริการ เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการและเจ้าของลิขสิทธิ์ในการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมบนสื่ออินเทอร์เน็ต และเพิ่มการกำหนดโทษสำหรับความผิดในการให้บริการผลิต ขาย หรือแจกจ่าย ซึ่งบริการ ผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ ที่ทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล เพื่อให้การป้องกันปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไข เช่น
- กำหนดให้การคุ้มครองงานภาพถ่าย ตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
- กำหนดให้ลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ให้มีอายุ 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก
- กําหนดประเภทของผู้ให้บริการออกเป็น 4 ประเภทคือ 1. ผู้ให้บริการในฐานะสื่อกลาง 2. ผู้ให้บริการในการเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นการชั่วคราว 3. ผู้ให้บริการในการรับฝากข้อมูลคอมพิวเตอร์ และ 4. ผู้ให้บริการในการสืบค้นแหล่งที่ตั้งข้อมูลคอมพิวเตอร์
- กำหนดให้ผู้บริการที่จะได้รับการยกเว้นความรับผิดสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากการให้บริการของตน จะต้องเป็นผู้ให้บริการที่ได้ประกาศมาตรการยกเลิกการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไว้อย่างชัดเจนและได้ปฏิบัติตามนั้น ทั้งนี้การยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการจัดประชุมและเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและได้เผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งลำดับต่อไปหลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบในวันนี้แล้ว จะส่งร่างพระราชบัญญัติให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แม้จะทำให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์จากงานภาพถ่ายได้ช้าขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีการขยายอายุความคุ้มครอง แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้สร้างสรรค์ว่า ผลงานนั้นจะได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอ รวมถึงช่วยให้เจ้าของลิขสิทธิ์และทายาทได้รับประโยชน์จากผลงานภาพถ่ายได้นานขึ้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า