ครม. มีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567 พร้อมประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้น GDP ได้ถึง 0.5% เนื่องจากภาคอสังหามีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน
วันนี้ (26 ธันวาคม) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 2% เหลือ 1% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว หรืออาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
สำหรับวันที่มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับ (ได้แก่ฉบับที่อยู่อาศัยประเภทบ้าน และฉบับอาคารชุด) ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากตอนนี้กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการอยู่
โดยในการดำเนินมาตรการดังกล่าว พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง คาดว่าจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 5 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.5% ของ GDP เนื่องจากจะช่วยขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เช่น ภาคการจ้างงาน ขนส่ง และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
ทั้งนี้ ตามการประมาณการเมื่อเดือนตุลาคมของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่า GDP ไทยน่าจะขยายตัว 3.2% ปี 2567 (ซึ่งยังไม่รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต และมาตรการของขวัญปีใหม่ต่างๆ รวมถึงการต่ออายุมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองอสังหานี้)
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังคาดว่าจะช่วยสนับสนุนทั้งตลาดบ้านมือหนึ่งและมือสองได้เป็นอย่างดี หลังจากผลจากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ไตรมาส 3 ปี 2566 ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50 จุดต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.
การต่ออายุมาตรการดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์