วันนี้ (14 มิถุนายน) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) ใน 7,435 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,566.28 ล้านบาท โดยเกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน เศรษฐกิจในพื้นที่หมุนเวียนระหว่างดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน โดยจะนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ อว. ไปขับเคลื่อนภาคการผลิตและบริการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและรักษาระดับการจ้างงาน
โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG and Regional Development) มีวัตถุประสงค์คือเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อทักษะการทำงานในปัจจุบันและที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ (Thailand Community Big Data: TCD) ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในพื้นที่ของประเทศ
กลุ่มเป้าหมายคือบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่ สถาบันอุดมศึกษาภาคประชาชน ภาคสังคม และภาคส่วนต่างๆ โดยมีการจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ในพื้นที่ 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตและบริการเพื่อเพิ่มคุณภาพและลดต้นทุน การจัดการตลาด การจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาบรรจุ การขนส่งและการกระจายสินค้าและบริการ เป็นต้น โดยสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ (ตำบล) ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวางแผนและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
การจ้างงานในพื้นที่ 3,000 ตำบล ต่อยอดจากโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จำนวน 8 คนต่อตำบล ประกอบด้วย
- บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามาไม่เกิน 5 ปี จำนวน 4 คนต่อตำบล
- ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่ จำนวน 4 คนต่อตำบล
พื้นที่ 4,435 ตำบลใหม่ จำนวน 10 คนต่อตำบล ประกอบด้วย
- บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 5 ปี จำนวน 5 คนต่อตำบล
- ผู้ที่ถูกเลิกจ้างและประชาชนในพื้นที่ จำนวน 5 คนต่อตำบล
รวม 68,350 คน ทั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2565
ธนกรยังกล่าวถึงประโยชน์ที่จะคาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการคือ เกิดกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ไม่น้อยกว่า 15,000 กิจกรรม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนไม่น้อยกว่า 4,500 รายการ เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไปและบัณฑิตจบใหม่จำนวนไม่น้อยกว่า 68,350 คน เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ระหว่างการดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน มีการ Upskill และ Reskill พัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งสามารถจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูล TCD ในการวิเคราะห์การจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ครบทุกพื้นที่