ครม. เห็นชอบจัดตั้ง ‘สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ’ หรือ NaCGA หวังสร้างระบบประกันความเสี่ยงทางการเงินให้ประชาชน เตรียมให้คลังและแบงก์ชาติร่วมกันร่างกฎหมายจัดตั้ง คาดใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรดังกล่าวร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
NaCGA หรือสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ คือการยกเครื่องระบบค้ำประกันของไทย โดยเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดยเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียม การค้ำประกันอิงตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) รวมทั้งการอนุมัติและออกหนังสือค้ำประกัน โดยรายได้ของ NaCGA มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ เงินสมทบจากรัฐบาล เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมจากผู้ขอสินเชื่อ
NaCGA เสมือนสถาบันประกัน แต่เป็นการ ‘ประกันความเสี่ยงทางการเงิน’ ให้ประชาชน โดยมีขั้นตอน ดังนี้
- ประชาชนผู้ต้องการสินเชื่อติดต่อ NaCGA
- NaCGA ประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อเป็นรายบุคคล
- NaCGA คิดค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำในการค้ำประกันสินเชื่อตามความเสี่ยง (รัฐบาลและสถาบันการเงินช่วยสมทบ)
- NaCGA ออกหนังสือค้ำประกันให้บุคคลนั้น โดยเป็นการประกันความเสี่ยงหากผิดนัดชำระหนี้
- ผู้ขอสินเชื่อนำหนังสือค้ำประกันไปใช้ในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
- สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อ เพราะผู้ขอสินเชื่อได้รับการค้ำประกันความเสี่ยงจาก NaCGA เรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลังจะร่างกฎหมายจัดตั้งร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน