วันนี้ (6 กันยายน) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบงบประมาณจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 182 ล้านบาท) และแผนการดำเนินงานประจำปี 2566 ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย โดยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วม เพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของทั้งสองประเทศในอ่าวไทย โดยเฉพาะปิโตรเลียมในพื้นที่ดินใต้ทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนล่างที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งเรียกว่าพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA)
ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลใช้บังคับระหว่างกันเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2522
สำหรับงบประมาณปี 2566 ที่องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เสนอขอครั้งนี้จำนวน 5 ล้านดอลลาร์ เป็นการจัดทำรายละเอียดคำขอขึ้นตามพื้นฐานกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯ ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งสูงกว่างบประมาณปี 2565 ที่ได้รับอนุมัติภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ร้อยละ 22
ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 4,836,100 ดอลลาร์ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน 163,900 ดอลลาร์ ส่วนที่มาของงบประมาณนั้น องค์กรร่วมฯ ได้เสนอขอใช้เงินที่ได้รับจากการขายปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จำนวน 4,271,916 ดอลลาร์ และงบประมาณเหลือจ่ายของปี 2564 จำนวน 728,084 ดอลลาร์ และได้ประมาณการรายได้รวมขององค์กรร่วมฯ ในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่จำนวน 667 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยค่าภาคหลวง 181 ล้านดอลลาร์ และปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรจำนวน 486 ล้านดอลลาร์
สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร ประกอบด้วย เงินเดือนพนักงาน ค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2, ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะกรรมการองค์กรร่วมฯ และเจ้าหน้าที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50, ค่าเช่า เช่น พื้นที่สำนักงาน อุปกรณ์สำนักงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6, ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5, ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.2 และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.39
ส่วนค่าใช้จ่ายที่ลดลงคือ ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม เช่น ค่าบำรุงรักษาสำนักงาน ยานพาหนะ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสำนักงาน ลดลงร้อยละ 12
ไตรศุลีกล่าวต่ออีกว่า แผนการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯ ในปี 2566 ที่สำคัญ เช่น เจาะหลุมประเมินผลจำนวน 1 หลุมในแหล่ง Senja, เจาะหลุมปิโตรเลียมในแหล่ง Bumi Deep Phrase 1 and 2 จำนวน 7 หลุม, รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุด (CDC) ในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุต และประสานงานกับบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (TTM) เพื่อให้การผลิตก๊าซเป็นไปตามสัญญา