วันนี้ (26 เมษายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การทำงานของรัฐบาลจะต้องตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล โดยวันนี้ ครม. ได้อนุมัติช่วยเหลือผู้สูงอายุรายละ 100-250 บาทต่อเดือน เริ่มเดือนเมษายน-กันยายนนี้ มีผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 10 ล้านคน วงเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท ทำให้ผู้สูงอายุจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพบวกกับเงินช่วยเหลือพิเศษตั้งแต่ 700-1,250 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นพิเศษในช่วงโควิด หลักการสำคัญคือรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุในครั้งนี้ จะจ่ายเพิ่มจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนตามช่วงอายุ เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2565 ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 100 บาทต่อเดือน รวมเป็น 700 บาทต่อเดือน
- อายุ 70-79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บาทต่อเดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 150 บาทต่อเดือน รวมเป็น 850 บาทต่อเดือน
- อายุ 80-89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บาทต่อเดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 200 บาทต่อเดือน รวมเป็น 1,000 บาทต่อเดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือน รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 250 บาทต่อเดือน รวมเป็น 1,250 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติให้มีการขยายมาตรการด้านภาษี เพื่อสนับสนุนรายจ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK ของบริษัทต่างๆ ออกไปอีก 9 เดือน โดยยกเว้นภาษี 50% ของรายจ่ายที่ซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อรองรับการก้าวผ่านสถานการณ์โควิดและรองรับการเปิดประเทศ
ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ครม. ได้มีมติเห็นชอบโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพทันสมัย ใช้เทคโนโลยีใหม่รองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้ จะทำให้ระบบควบคุมการเดินรถทำได้ดีขึ้น สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนรถไฟได้ รวมถึงต้องไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการเวนคืนที่ดิน
ด้านการต่างประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานผลการเยือนญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่น รวมถึงประธานเจโทรและผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น กระชับความสัมพันธ์และตกลงการค้าอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยมีแรงดึงดูดมากเพียงพอต่อเอกชนของญี่ปุ่นและแสดงความจำนงที่จะลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น และยินดีร่วมมือและประสงค์ที่จะผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยมากขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิต EV ในภูมิภาคด้วย รวมถึงผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูงในประเทศไทยและการตั้งโรงงานเซลล์แบตเตอรี่
นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยร่วมมือการค้าและส่งออกกับภูฏาน เช่น การส่งออกสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งด้านศิลปะวัฒนธรรม หัตถกรรม การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีประเทศจอร์แดนด้วย
ทั้งนี้ ประชุม ครม. ยังได้เห็นชอบโครงการแลกเปลี่ยนทางศิลปะวัฒนธรรมด้านต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ภาพยนตร์ ผ้า การออกแบบแฟชั่น การต่อสู้ เทศกาล และประเพณี ซึ่งการเผยแพร่และต่อยอดวัฒนธรรมไทยนั้นเป็นการสร้างอิทธิพลและอำนาจการแข่งขัน หรือที่เรียกว่า Soft Power เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามผลักดันและขับเคลื่อนมาโดยตลอด
“ถ้าเราเร่งผลักดันทำยุทธศาสตร์ด้านนี้ให้ดีโดยโครงการต่างๆ ในทุกกระทรวง ก็จะเป็นการต่อยอดวัฒนธรรมที่เรามีอยู่มากมายในขณะนี้ และความมีชื่อเสียงในระดับโลกอีกหลายด้านของเรา” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว