วันนี้ (7 กันยายน) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงิน 4,254.36 ล้านบาท สำหรับจัดหาวัคซีน Sinovac เพิ่มเติม จำนวน 12 ล้านโดส เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชนใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง (ปอดอุดกั้น หอบหืด), โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 (ไตวายเรื้อรัง), โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด, โรคเบาหวาน และโรคอ้วน (BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 35 น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม)
- ประชาชนอายุ 60 ปีขึ้นไป
- เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิดที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ด่านควบคุมโรคตามชายแดน สถานกักกันโรค ทหาร ตำรวจ เจ้าที่เก็บขยะติดเชื้อ เป็นต้น
- ประชาชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ธนกรยังกล่าวถึงการจัดหาวัคซีน Sinovac จำนวน 12 ล้านโดสนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน สามารถส่งมอบได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมนี้ และยังเป็นการรองรับการฉีดวัคซีนสูตรผสม และเพิ่มความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มวัยแรงงาน 8 ล้านคน และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2 ล้านคน โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อชะลอไม่ให้เกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายในวงกว้าง การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca จะสามารถร่นระยะเวลาการฉีดลงได้ และยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับสูงตามผลการวิจัย ช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากโควิด รวมทั้งลดผลกระทบ ฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนการจัดซื้อวัคซีน Sinovac 12 ล้านโดส ตรงกับแผนที่กระทรวงสาธารณาสุขเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะนำเข้ามาเพิ่มเติมในเดือนกันยายนถึงตุลาคม เดือนละ 6 ล้านโดส ขณะที่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้จะไม่มีการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac แล้ว แต่จะเป็นการสั่งซื้อวัคซีน Pfizer เดือนละ 10 ล้านโดส ในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมแทน ร่วมกับการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ที่คาดว่าจะส่งได้เดือนละ 7 ล้านโดส