Thai Beverage Public Company Limited หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่ม ‘ช้าง’ และเครื่องดื่มและอาหารแบรนด์อื่นๆ ในเครืออีกหลากหลายแบรนด์ เช่น โออิชิ, เอส และคริสตัล เป็นต้น
ไทยเบฟเคยพยายามที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน แต่ถูกประท้วงจากประชาชนจำนวนหนึ่งจนต้องพับแผนไปในที่สุด ก่อนที่บริษัทจะหันไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2567 หุ้นไทยเบฟสามารถซื้อขายผ่านกระดานหุ้นไทยได้สำเร็จ แต่เป็นการซื้อขายผ่านหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Depositary Receipt หรือ DR
DR เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศมา แล้วเสนอขายหุ้นต่างประเทศนั้นให้กับผู้ลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท
โดยผู้ออก DR ไม่ใช่บริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ในต่างประเทศ แต่จะทำหน้าเป็นผู้ที่ถือหลักทรัพย์ต่างประเทศแทนนักลงทุน ดังนั้น นักลงทุนที่ถือครอง DR จึงเหมือนเป็นผู้ที่ถือครองหุ้นต่างประเทศนั้นๆ ผ่านใบ DR ซึ่งในกรณีของผู้ที่ซื้อ THAIBEV19 ก็จะเป็นเจ้าของหุ้นไทยเบฟไปโดยปริยาย
คำถามถัดมาคือ การที่เราถือ THAIBEV19 จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง? คำตอบคือ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1. กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
นักลงทุนจะได้รับกำไรหากสามารถขาย DR ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตอนที่ซื้อมา แต่หากทิศทางราคาไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ก็มีโอกาสขาดทุนเช่นกัน
2. กำไรจากเงินปันผล (Dividend)
นักลงทุนที่ถือ DR มีโอกาสได้รับเงินปันผลหรือสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ในกรณีนี้หากไทยเบฟประกาศจ่ายเงินปันผล ก็จะได้รับเงินปันผลเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าการจะซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ใดสักตัว ก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และหนึ่งในข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้คือ ผลประกอบการที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบันของบริษัทเป็นอย่างไร
- ปี 2565 มีรายได้จากการขาย 272,359 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 34,505 ล้านบาท
- ปี 2566 มีรายได้จากการขาย 279,085 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 30,727 ล้านบาท
- ไตรมาส 2 ปี 2567 มีรายได้จากการขาย 149,566 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 16,917 ล้านบาท
จากผลประกอบการปี 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) โดยธุรกิจของไทยเบฟแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
- ธุรกิจเบียร์ คิดเป็นสัดส่วน 43%
- ธุรกิจสุรา คิดเป็นสัดส่วน 43%
- ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 7%
- ธุรกิจอาหาร คิดเป็นสัดส่วน 7%