วันนี้ (3 สิงหาคม) อรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตลาดคลองด่าน ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อพบปะเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมง พร้อมมอบเครื่องมือประมงใช้จับปลาหมอคางดำ
อรรถกรพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ว่า ตรวจสอบไปหลายที่ จากกรณีที่พี่น้องประชาชนบอกว่า มีขั้นตอนหลายอย่างในการเข้าร่วมโครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งค่าหัวล่าปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งตนยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมด้วยช่วยกันทั้ง 22 หน่วยงาน เราเปิดกว้าง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง อายุเท่าไรก็ตาม ถ้าคุณมีความสามารถจับปลาหมอคางดำได้มากเท่าไร เรามีจุดรับซื้อทั่วประเทศ 73 จุด โดยไม่ต้องใช้เอกสาร ไม่ต้องผ่านกระบวนการมากมายอย่างที่เป็นข่าว
“ผมมาวันนี้เพื่อจะมาขอความร่วมมืออีกครั้ง และผมเชื่อว่าวันนี้จะไม่ใช่วันสุดท้าย ผมในฐานะตัวแทนของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องที่เป็นชาวประมงมาร่วมจับปลาหมอคางดำกับพวกเรา เพราะปัญหาปลาหมอคางดำเป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ถ้าเรายังปล่อยให้มีการระบาด นั่นหมายความว่า เราจะส่งต่อมรดกที่เรียกว่าปลาหมอคางดำสู้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป” อรรถกรกล่าว
อรรถกรกล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ดี กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย หรือแม้กระทั่งหน่วยงานอื่นๆ เราทำงานร่วมกัน ในส่วนของสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการท่านทำงานด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ท่านต้องประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ ต้องขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด และตนได้รับการยืนยันจาก สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หากพื้นที่ใดมีการชุกชุมของปลาหมอคางดำ ท่านประสานเข้าไปขอกำลังทหารเพื่อมาช่วยจับได้ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าอีก 1-2 เดือน เมื่อเรามาประเมินสถานการณ์ปลาหมอคางดำจะต้องดีขึ้น ถ้าพวกเราช่วยกันก็จะแก้ไขปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ อรรถกรยังได้ร่วมกิจกรรมปฏิบัติการลงแขกลงคลอง เพื่อจับปลาหมอคางดำร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยชี้ให้เห็นว่า วันแรกของโครงการก็คือวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา อาจยังมีความไม่เข้าใจ หรืออาจเกิดความบกพร่องในเรื่องการสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง ทำให้พี่น้องยังไม่มีความมั่นใจว่า จับมาแล้วจะเอาไปแลกเป็นเงินค่าหัวตามที่ ร.อ. ธรรมนัส ประกาศไว้ว่ากิโลกรัมละ 15 บาท ได้หรือไม่
ขอยืนยันว่า เรายินดีรับทุกกิโลกรัม เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันนำปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากที่สุด โดยไม่มีกระบวนการยุ่งยาก โดยเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2567
สำหรับจุดรับซื้อแต่ละจังหวัดมีดังนี้ จังหวัดจันทบุรี มีจุดรับซื้อทั้งหมด 4 จุด, จังหวัดระยอง 2 จุด, จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 จุด, จังหวัดสมุทรปราการ 6 จุด, จังหวัดนครปฐม 1 จุด, จังหวัดนนทบุรี 1 จุด, จังหวัดสมุทรสาคร 6 จุด, จังหวัด สมุทรสงคราม 3 จุด, จังหวัดราชบุรี 1 จุด, จังหวัดเพชรบุรี 10 จุด, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 13 จุด, จังหวัดชุมพร 14 จุด, จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 จุด, จังหวัดนครศรีธรรมราช 5 จุด และจังหวัดสงขลา 1 จุด รวมทั้งสิ้น 73 จุดรับซื้อ
โดยผู้ขายรายย่อย (เกษตรกร ชาวประมง) ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดในการรับซื้อ สามารถนำมาขาย ณ จุดรับซื้อต่างๆ ได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ไม่จำกัดจำนวน แต่หากเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) จับจากบ่อตนเอง ให้แจ้งข้อมูล ทบ.1 กับเจ้าหน้าที่ ณ จุดรับซื้อ เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลต่อไป
อรรถกรยังกล่าวถึงงบประมาณที่จะนำไปใช้ในโครงการรับซื้อปลาหมอคางดำว่า เราได้รับความร่วมมือจากการยางแห่งประเทศไทยในการใช้เงินทุนที่ไม่ใช่เงินกองทุนที่เขาจะนำไปใช้ช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยาง แต่ตอนนี้เราใช้เงินทุนของการยางฯ เบื้องต้นจะใช้ 50 ล้านบาท ระดมนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศให้มากที่สุด แล้วนำไปทำอย่างอื่น โดยเชื่อว่าการนำไปแปรรูปก็จะเป็นประโยชน์ต่อไป