×

กฎหมายโลกร้อน: สิ่งที่ธุรกิจควรรู้เพื่อการปรับตัวอย่างยั่งยืน

24.02.2023
  • LOADING...

ในปัจจุบัน ปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างเป็นวงกว้างและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นับเป็นวาระสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในส่วนของการดำเนินนโยบายภาครัฐและการดำเนินธุรกิจภาคเอกชน โดยประเทศไทยในฐานะภาคีของความตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือ COP21 ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) มีพันธกรณีที่จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ และปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งดูดซับ และกำหนดเป้าหมายและมาตรการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ หรือ COP26 ได้มีการประกาศเป้าหมายและหาข้อตกลงร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปได้จริง เนื่องจากต้องการควบคุมอุณหภูมิโลกตามภาคีความตกลงปารีส ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) 

 

ในส่วนของภาคธุรกิจ แม้ข้อมูลเรื่องการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการจะเริ่มมีความสำคัญ เพราะเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการตัดสินใจและการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืนของธุรกิจเอง และต่อการตัดสินใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจ (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า สถาบันการเงิน หรือนักลงทุน ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจยังอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจเท่านั้น เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ภาคธุรกิจต้องจัดเก็บข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

 

เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยตามความตกลงปารีสและข้อตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อสร้างกลไกและมาตรการในการรับมือต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยจึงจะตรากฎหมายกลางในระดับพระราชบัญญัติ เพื่อบริหารจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2564 และรับความเห็นจากกระทรวงการคลังเมื่อเดือนมกราคม 2565 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป 

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ถูกนำกลับไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องกรอบระยะเวลาของการประกาศใช้ก็ตาม แต่เมื่อเล็งเห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของปัญหาโลกร้อน กฎหมายฉบับนี้จะถูกประกาศใช้ในอนาคตอย่างแน่นอน 

 

4 หน้าที่รัฐ และ 3 สิทธิของประชาชน

พื้นฐานของร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ตั้งอยู่บนหลักการของการรับรองสิทธิแก่บุคคลและชุมชน 3 ประการ ได้แก่ สิทธิในการได้รับแจ้งข้อมูลจากรัฐเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิในการให้ข้อมูลและข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิทธิในการได้รับการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

 

ส่วนภาครัฐมีหน้าที่ 4 ประการ คือหน้าที่ในการคาดการณ์และประเมินผลกระทบ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ หน้าที่ในการกำหนดเป้าหมายการดำเนินการเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก หน้าที่ในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหน้าที่ในการกำหนดนโยบายโดยคำนึงถึงการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และ 3 แผนปฏิบัติการ

ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตราหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ รวมถึงจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และกำหนดหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำแผนแม่บทไปดำเนินการ โดยต้องจัดให้มีการทบทวนแผนแม่บทนี้ทุก 5 ปี

 

นอกเหนือจากแผนแม่บท คณะกรรมการฯ ยังมีหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งจะกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐตามเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และกำหนดมาตรการสร้างเสริมความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต โดยให้อำนาจหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำแผนปฏิบัติการนี้ไปดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการฯ อาจจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการเฉพาะสำหรับพื้นที่หรือภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ได้ โดยต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องนั้นด้วย

 

ฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 

ร่างพระราชบัญญัติฯ กำหนดให้มีฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จากแหล่งกำเนิด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกักเก็บโดยแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก และปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิตามกรอบระยะเวลาของแผนลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งต้องประกาศกำหนดรายการข้อมูล การนำเสนอข้อมูล และการปรับปรุงข้อมูลกิจกรรมการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทั่วถึง และเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือของภาครัฐในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง 

 

โดยตามร่างพระราชบัญญัติปัจจุบันฯ ได้กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ในการจัดให้มีฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และบริหารจัดการฐานข้อมูลดังกล่าว (ทั้งนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนความรับผิดชอบของหน่วยงานได้ เนื่องจากขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมขึ้นแล้ว) นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานยังถูกกำหนดให้มีหน้าที่รายงานข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งจะมีอำนาจในการเรียกข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอื่นและภาคเอกชนด้วย 

 

โดยในร่างปัจจุบัน ภาคธุรกิจที่อยู่ภายใต้อำนาจการเรียกเก็บข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน และเจ้าของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดบุคคลอื่น ๆ ที่อาจถูกเรียกเก็บข้อมูลเป็นการเพิ่มเติมได้

 

สำหรับข้อมูลที่จะมีการเรียกเก็บประกอบไปด้วย ข้อมูลกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จากแหล่งกำเนิด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกกักเก็บโดยแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก และประมาณการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิตามกรอบระยะเวลาของแผนลดก๊าซเรือนกระจก โดยข้อมูลที่มีการเรียกเก็บนี้เป็นความลับทางการค้าว่าด้วยกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า และให้บุคคลที่ถูกเรียกเก็บข้อมูลสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอมิให้เปิดเผยข้อมูลนั้นได้ หากการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว

 

ในกรณีที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลไม่รายงานข้อมูลโดยไม่มีเหตุอันสมควร รายงานข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อมูลอันพึงรายงาน จะต้องชำระค่าปรับทางปกครองตามอัตราที่กำหนดไว้ และจะต้องชำระค่าปรับเพิ่มรายวัน จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง และหากในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือบุคคลผู้มีอำนาจต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ต้องชำระค่าปรับทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย

 

มาตรการส่งเสริมแก่เอกชน

ร่างพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการและพัฒนาความสามารถของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก โดยหน่วยงานภาคเอกชนหรือเจ้าของกิจการสามารถขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุน ซึ่งจะได้จัดตั้งขึ้นเพื่อการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลกิจกรรมการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

 

จับตาก้าวต่อไป ภาคธุรกิจควรดำเนินการอย่างไรก่อนกฎหมายโลกร้อนประกาศใช้

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการผลักดันร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากกฎหมายฉบับนี้ได้รับการประกาศใช้แล้วจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ภาคธุรกิจที่เป็นเจ้าของแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจก (ผู้ประกอบกิจการโรงงานและบุคคลอื่น ๆ ที่จะกำหนดต่อไปในกฎหมายลำดับรอง) จะมีหน้าที่ในการรายงานข้อมูลกิจกรรมและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องด้วย

 

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมต่อหน้าที่ที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้ ภาคธุรกิจอาจเริ่มจากการเก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินการ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของตนเองและในส่วนของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และดำเนินการให้มีการสอบทานข้อมูลให้ถูกต้อง โดยนอกจากจะทำให้ธุรกิจสามารถเตรียมตัวเพื่อรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อถูกเรียกเก็บข้อมูลแล้ว ยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อจัดทำระบบการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับกิจการได้ เช่น การปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานจากแหล่งพลังงานฟอสซิลสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน การนำเทคโนโลยีเพื่อกักเก็บก๊าซเรือนกระจก (Carbon Capture and Storage) มาใช้ในกิจการ หรือการใช้คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

 

ภาคธุรกิจจึงควรเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของตน เพื่อให้ตระหนักถึงหน้าที่ตามกฎหมาย และเตรียมพร้อมต่อการดำเนินการรายงานข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นการภายใน เพื่อเป็นแนวทางตั้งต้นในการร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising