วิจัยกรุงศรีเปิดลิสต์กลุ่มธุรกิจใดถูกกดดันหนักหากบอร์ดค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ เผย ปัจจุบันแรงงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีสัดส่วนอยู่เพียง 16% ของแรงงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับ 38.8% ในปี 2557
วิจัยกรุงศรีกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศยังต้องติดตามการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งถัดไป จากกำหนดการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ทั้งในวันที่ 16 กันยายน และวันที่ 20 กันยายน พบว่ายังไม่มีมติใดๆ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ จึงทำให้ต้องขยับเลื่อนออกไปอีก
ทั้งนี้ ในปี 2567 ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างสองครั้ง คือเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปรับขึ้นทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 17 อัตรา โดยอยู่ในช่วง 330-370 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยปรับขึ้น 2.37% และต่อมาวันที่ 12 เมษายน ปรับค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวัน เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไป ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว และปรับบางเฉพาะพื้นที่
เปิดกลุ่มธุรกิจอาจถูกกดดันหนัก
ปัจจุบันแรงงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีสัดส่วนอยู่เพียง 16% ของแรงงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับ 38.8% ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่มีการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานในปัจจุบันต่ำกว่าการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริง (Negative Productivity Wage Gap) อาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้นต่อผลกำไรและความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ได้แก่
- สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
- อิเล็กทรอนิกส์
- ยางและพลาสติก
- อาหารและเครื่องดื่ม
- ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ธุรกิจบริการอื่นๆ ส่วนใหญ่มีช่องว่างผลิตภาพแรงงานและค่าจ้างเป็นบวก อาทิ การเงินและการค้า ซึ่งสะท้อนว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อธุรกิจโดยภาพรวมอาจจำกัด