×

เมือง / คน / ธุรกิจ สัมพันธ์กันอย่างไร และเราควรวางอนาคตของเมืองอย่างไรให้คนกับธุรกิจเติบโตได้ดีที่สุด

19.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ความสัมพันธ์ของเมือง คน และธุรกิจแบบมหภาคของเอเชีย (โดยเฉพาะจีน) และแอฟริกากำลังเป็นที่ดึงดูดของโลกธุรกิจ โดยเมืองที่จะดึงดูดธุรกิจให้มาลงทุนได้ต้องส่งเสริมให้เกิด Infrastructure, Financial and Investor Access, Talent และ Customer
  • อนาคตของเมืองที่ถูกพูดในวงกว้างและระดับโลกมีอยู่ 5 เรื่องหลักๆ คือ Aging Society, Smart City, Sustainable, Citizen Centric และ Economically Attractive
  • สิ่งที่ภาครัฐต้องทำคือผลักดันให้เกิด Economically Attractive เช่น กฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้อประโยชน์นักลงทุน หรือส่งเสริมให้กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน ด้านการลงทุน จัดเวทีการค้า เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจอยากมาลงทุน รวมทั้งส่งเสริมให้เมืองเป็นศูนย์กลาง talent ดังนั้นก็ต้องสร้างพื้นที่ knowledge และ creative space ขึ้นมาอย่างจริงจัง

     เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสได้ไปพูดให้กับงาน ‘เมือง คิด ใหม่’ ซึ่งจัดโดยสำนักนายกรัฐมนตรี และ OKMD ซึ่งมีสปีกเกอร์ที่น่าสนใจมากมาย หากมีคลิปออกมาเมื่อไรลองไปหาดูกันนะครับ มีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่องมาก

     ในส่วนของผม น่าจะเป็นคนเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูดน้อยที่สุดแล้ว เพราะท่านอื่นล้วนแล้วแต่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ สถาปนิก หรือทำงานเกี่ยวกับ public sector

     ผมเลยพยายามพูดมุมของนักการที่คิดว่าน่าจะพอมีส่วนช่วยกันสร้างเมืองที่น่าสนใจได้มากขึ้นครับ และนี่คือเนื้อหาทั้งหมดประมาณ 20 นาทีที่ผมพูดครับ

     ถ้าใครสนใจสไลด์ของผม ไปตามลิงก์นี้ได้เลยครับ www.slideshare.net/Missiontothemoon/ss-79874816

     เวลาพูดถึงเรื่อง ‘ธุรกิจ’ ส่วนใหญ่จะมองในแง่มุมที่เป็น ‘คน’

     แต่จริงๆ แล้ว ‘เมือง’ ก็เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง

     โดยทั้ง 3 ส่วน เมือง ธุรกิจ และคนนั้นสัมพันธ์และ dynamic

 

A) เมือง / คน / ธุรกิจ สัมพันธ์กันอย่างไร (Macro)

 

      1. เพราะโลกคือที่ที่เกิดการกระทำทางธุรกิจและเศรษฐกิจ

      ปัจจุบันมีประชากร 7.6 พันล้านคน เมืองทางเศรษฐกิจคือ โตเกียว นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส โซล ลอนดอน และปารีส

      แต่ในอนาคต UN คาดคะเนว่าประชากรโลกในปี 2050 จะทะลุถึง 9.8 พันล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 2 พันล้านคน โดยกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเอเชีย (จีนและอินเดีย) และแอฟริกา

      เมืองทางเศรษฐกิจ 6 อันดับแรกของโลกจะเกิดการสลับที่ ‘ลอนดอน’ และ ‘ปารีส’ จะตกอันดับ โดย ‘เซี่ยงไฮ้’ และ ‘ปักกิ่ง’ จะขึ้นมาแทนภายในปี 2050

      และสัดส่วนกว่าครึ่งของ GDP โลกใน 10 ปีข้างหน้าจะมาจากตลาดเกิดใหม่(Emerging Cities) ใน 440 เมืองของโลก

      อย่างการสำรวจของ Euromonitor ล่าสุด (กันยายน 2017) พบว่า ช่วงปีนี้ความสามารถในการจับจ่ายของผู้บริโภคที่ Sub-Saharan Africa จะเพิ่มขึ้น 160% ซึ่งโตเร็วกว่าตลาดเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วกว่า 2.5 เท่า

      พูดอีกอย่างคือจากข้อมูลนี้จะทำให้เห็นว่าเอเชีย โดยเฉพาะจีนและแอฟริกา จะเป็นที่ดึงดูดของโลกธุรกิจ

      ซึ่งนี่คือภูมิทัศน์แบบกว้างสุดของโลกธุรกิจ คน และเมืองในอนาคต


      2. ธุรกิจมองเมืองอย่างไร

      ผลสำรวจของ McKinsey ในปี 2015 สำรวจนักธุรกิจและนักบริหารทั่วโลกถึงมุมมองที่มีต่อเมืองพบว่า นักธุรกิจมองเมืองในแง่ของ Customer (Consumers และ Business Clients) และ Talent (หรือแรงงานชั้นเลิศ)

      ฉะนั้นเมืองที่จะดึงดูดธุรกิจให้มาลงทุนได้ ต้องจัดหาหรือส่งเสริมให้เกิด Infrastrature, Financial and Investor Access, Talent และ Customer


B) เมือง / คน / ธุรกิจ สัมพันธ์กันอย่างไร (Micro)

      ถ้าว่ากันในระดับที่ใกล้ตัวลงมาหน่อย ซึ่งสัมพันธ์ในมิติหลักๆ มี 4 ข้อคือ กฎระเบียบข้อบังคับ, สาธารณูปโภคและคมนาคม, สภาพแวดล้อม, วัฒนธรรมและวิถีชีวิต

 

      1. กฎระเบียบข้อบังคับ

      ผังเมืองและการออกแบบอาคารที่มีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างกฎระเบียบข้อห้ามเป็นอุปสรรคให้ธุรกิจ เช่น Uber, Grab อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ภาครัฐ (เมือง) เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง

 

      2. สาธารณูปโภคและคมนาคม

      ยกตัวอย่างปัญหารถติดที่เป็นอุปสรรคของธุรกิจด้านการขนส่ง แต่ในทางกลับกัน ปัญหารถติดก็เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจได้ด้วย

      เช่น Line Man บริการจัดส่งอาหารและพัสดุ, LaLaMove การจัดส่งพัสดุภายในวันเดียวกัน, J.I.B. ที่มีบริการจัดส่งแบบด่วนมาเป็นจุดขายด้าน customer experience


      3. สภาพแวดล้อม

      ธุรกิจเองก็สามารถสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ให้เมืองได้เหมือนกัน
      เช่น 7-Eleven ที่ทำหน้าที่เป็น public space หรือ shared space ให้เกิดเป็นชุมชนย่อมๆ ของคนในเมืองขึ้นมา และยังดึง surveillance หรือการสอดส่องเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ที่ที่มี 7-Eleven จะเปลี่ยวน้อยลง

      เช่น เซ็นทรัล ที่เปิดห้างใหม่ในหัวเมืองต่างๆ ก็จะเกิดความคึกคักขึ้นในย่านนั้น ทำให้เกิดชุมชน เกิดตลาดนัด ขายของริมทาง หรือ public space ใหม่ๆ ในย่านนั้นขึ้นมา


      4. วัฒนธรรมและวิถีชีวิต

      คนที่มีความต้องการหลากหลายก็ได้มีส่วนในการสร้างเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านการเป็นลูกค้าของธุรกิจ

      4.1 เช่น คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่อง knowledge, creativity, art มากขึ้น ก็เป็นการกำหนดธุรกิจและภาครัฐให้เกิด public space ใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร, AIS D.C. (ดิ เอ็มโพเรียม), ศูนย์ SCG Experience, Think Space B2S
      4.2 ผู้บริโภคมีความต้องการที่เฉพาะมากขึ้น ส่งผลให้เกิด public space ใหม่ๆ เช่น ร้านกาแฟสวยๆ ที่กลายเป็นแหล่งนัดพบใหม่นอกเหนือจากห้าง อย่าง ซอยนานา ตรงวงเวียน 22 ที่มีร้านสวยๆ เต็มไปหมด เกิดงานคอนเสิร์ตดนตรีทางเลือกมากขึ้น เกิดป๊อปอัพมาร์เก็ต หรือตลาดนัดชั่วคราว เช่น Art Box BKK
      4.3 วัฒนธรรมอาหารการกินเป็นปัจจัยที่มีผลต่อทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว อย่างสตรีทฟู้ดนี่ CNN Travel ก็ให้กรุงเทพฯ เป็นอันดับ 1 ของโลกเลย
      ส่วนอาหารแบบ top-tier เราก็ทำได้ดีมากๆ โดยจากการจัดอันดับร้านที่ดีที่สุดในเอเชีย 50 ร้าน มีถึง 9 ร้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ นำโดยอันดับ 1 อย่าง Gaggan และอันดับ 5 อย่าง Nahm ท่ามกลางเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียว เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง การที่เราติด 9 ใน 50 ร้าน แสดงให้เห็นว่าตอนนี้กรุงเทพฯ กลายเป็นอีกหนึ่ง dining destination ซึ่งวันหนึ่งผมเชื่อว่าเราจะทำได้ดีไม่แพ้โตเกียวหรือปารีสครับ
ซึ่งในปลายปีนี้จะมีการเปิดตัว Michelin Guidebook ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านอาหารของประเทศเราไปอีกหนึ่งขั้น

      โดยสรุป ไม่ว่าจะในระดับมหภาคและจุลภาค เมือง ธุรกิจ และคน สัมพันธ์และพลวัตต่อกันหมด

 

C) เมืองในอนาคตจะเน้นไปที่อะไร
      ประเด็นเรื่อง ‘อนาคตของเมือง’ ที่ถูกพูดในวงกว้างและระดับโลกมีอยู่ 5 เรื่องหลักๆ คือ


      1. Aging Society
      ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย

      ภายในปี 2050 โลกจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 14 อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

      ดังนั้นในอนาคตข้างหน้า การออกแบบเมืองและแม้กระทั่งภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงประชากรผู้สูงอายุ

      ส่วนภาคธุรกิจ การตอบรับแนวโน้มนี้ไม่ใช่แค่ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ ‘การแก้เบื่อ’ หรือ ‘แก้เหงา’ ของผู้สูงอายุก็เป็นโอกาสที่น่าสนใจ


      2. Smart City / Smart Home
      เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทกับภูมิทัศน์เมืองและบ้านเรือนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Big Data, Internet of Things

      เช่น ชิคาโกติดตั้งกล่องเก็บข้อมูลเรื่องอากาศ แสง การสั่นสะเทือนไว้ตามเสาทั่วเมือง เพื่อเก็บเป็น Big Data (ไม่ต่างจาก Fitbit ของเมือง) ไว้เป็นข้อมูลในการออกแบบและวางผังเมือง นอกจากนี้ไหนๆ ก็ติดกล่องตามเสาแล้ว ก็ดัดแปลงให้เป็นไฟ LED ให้แสงสว่างไปในตัว
      หรือในกรุงเทพฯ ไปที่ไหนก็มีแต่ตู้ ATM ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงหลายหมื่นล้านต่อปี แต่หากเราสามารถพัฒนาเรื่อง payment ได้มีประสิทธิภาพขึ้น ก็อาจลดค่าใช้จ่ายและเกิดความคล่องตัวมากขึ้น

      เมืองจะเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มาตอบสนองวิถีชีวิตคน เช่น sharing economy อย่าง coworking space, carpool, carsharing, room sharing

      แต่ก็ต้องเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องคิดต่อครับ เรื่องกฎระเบียบข้อบังคับที่ทุกวันนี้ยังเป็นปัญหาต่อธุรกิจ sharing economy ในบ้านเราอยู่


      3. Sustainable / Healthy Living

      เมืองจะคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด และมลภาวะมากขึ้น อย่างในเมืองที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่โคเปนเฮเกน หรืออัมสเตอร์ดัม ที่กลายเป็นเมืองจักรยาน ลักษณะหน้าตาของท้องถนนจะเริ่มเปลี่ยนไป หลายเมืองเริ่มนำถนนมาใช้เป็น public space ให้คนใช้ขี่จักรยาน เป็นสถานที่เดินเล่น หรือเป็นถนนคนเดินขายของ

      ประเด็นเรื่องสุขภาพของคนจะกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่เมือง ธุรกิจ และคนให้ความสนใจ


      4. Citizen-Centric

      เมืองจะโฟกัสไปที่ความสุขของผู้คนในเมืองมากขึ้น จะมีการคิดค้นนวัตกรรมหรือบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองให้คนมีความสุข มีการศึกษาที่ดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

      ในเชิงการตลาด ตัวคนหรือผู้บริโภคจะมีลักษณะคือ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเอง, มีการจับจ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์มากขึ้น, มองหาสินค้าบริการที่มี personalise มากขึ้น, ผู้บริโภคจะใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมมากขึ้น

      ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีคิดเรื่อง Human-Centric ในการออกแบบเมือง เรื่องนี้ชื่อเรื่อง ‘สะพาน’ ครับ เป็นเรื่องที่ผมฟังมาจากคุณต้อง-กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking (แต่เรื่องนี้ไม่มีผิดไม่มีถูกนะครับ เป็นเรื่องที่ให้ลองขบคิดกันเอง)

      เรื่องราวเป็นแบบนี้ครับ

      เราเดินไปเจอแม่น้ำ ที่แม่น้ำมีผู้ชายยืนอยู่คนหนึ่งซึ่งกำลังมองไปฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ เราก็เดินเข้าไปคุยด้วย

      เรา: พี่กำลังมองอะไรอยู่ครับ

      พี่คนนั้น: กำลังคิดว่าอยากได้สะพาน ถ้ามีคนสร้างสะพานก็คงดี

      เรามีเงินและทรัพยากรเพียบ แถมเป็นคนดูแลผังเมืองด้วย เลยตอบไปว่า

      “พี่อยากได้สะพานจากไม้ จากเหล็ก หรือจากปูน สะพานธรรมดาหรือสะพานแขวนดี”

      สมมติพี่เขาตอบว่าอยากได้สะพานไม้ เราก็สร้างสะพานไม้ให้

      เรื่องก็จบ

      ทุกคนฟิน แก้ปัญหาได้

      หรือเปล่า?

 

      ถ้าเราช่างสงสัยอีกสักนิด เราอาจจะถามว่า “ทำไมพี่อยากได้สะพานล่ะครับ”

      พี่เขาก็อาจจะตอบว่า “อยากข้ามไปฝั่งโน้น”

      เราตอบไปเลยว่า “ถ้าอยากข้ามไปฝั่งโน้นก็มีหลายวิธี เช่น ว่ายน้ำ ขึงเชือก เรือ อุโมงค์ หรือสะพานก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง”

      เราถามพี่เขาว่า “อยากข้ามด้วยวิธีไหนดีพี่?”

      พี่เขาคิดนิดหนึ่งแล้วตอบว่า “เรือก็แล้วกัน”

      เราก็ซื้อเรือให้พี่เขาเลย

      ทุกคนฟิน แก้ปัญหาได้

      หรือเปล่า?

 

      ถ้าเราช่างสงสัยอีกสักนิด เราอาจจะถามว่า “ทำไมพี่อยากข้ามไปฝั่งโน้นล่ะครับ”

      พี่เขาตอบว่า “จะไปหาแฟน”

      เราถามกลับไปว่า “ทำไมไม่ให้แฟนพี่ย้ายมาฝั่งนี้ละครับ”

      พี่เขาตอบว่า “ไม่ได้ เพราะแฟนพี่ต้องทำงานฝั่งโน้น”

      เราก็ตอบไปว่า “พี่หาแฟนใหม่ได้ไหม”

      5. Economically Attractive

     เมืองจะพยายามดึงดูดความสนใจของนักลงทุน ส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางของ Creativity, Talent, Access to Investor and Business Partnerships


D) เมือง / คน / ธุรกิจ ควรวางอนาคตต่อไปอย่างไร

      จากเทรนด์ที่กล่าวข้างต้น ถ้าให้วิเคราะห์ใน 3 ตัวละครคือ เมือง (ภาครัฐ / City Leader) ธุรกิจ และคน ควรจะคำนึงถึงเรื่องทำนองนี้


      1. เมือง (ภาครัฐ / City Leader)

      สิ่งที่ภาครัฐหรือผู้มีส่วนในการดูแลและสร้างเมืองจะต้องผลักดันให้เกิด economically attractive เช่น ผ่านทางกฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้อประโยชน์นักลงทุน

      ส่งเสริมให้กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ๆ เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน ด้านการลงทุน จัดเวทีการค้าเพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจอยากมาลงทุน

      ส่งเสริมให้เมืองเป็นศูนย์กลาง talent ดังนั้นก็ต้องสร้างพื้นที่ knowledge และ creative space ขึ้นมาอย่างจริงจัง สร้างคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนไม่ต่างจากการทำแบรนด์ว่า เมืองจะขายจุดเด่นด้านอะไร เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่มี vision ประเทศและเมืองที่จะเป็น smart nation โดยเคลื่อนทิศทางจากการเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินในภูมิภาค Southeast Asia มาสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้าน ICT หรือเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ธุรกิจยังคงเลือกสิงคโปร์เป็น regional hub ทางด้านธุรกิจต่อไป


      2. ธุรกิจ

      สิ่งที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงคือ ในมุมของประชากร (คน) กับทิศทางเมืองในอนาคต กล่าวคือถ้าผู้ประกอบการสามารถทำนายหรือจับอนาคตข้างหน้าได้ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและลดความเสี่ยงทางธุรกิจไปในตัว

      ยกตัวอย่างเช่น อนาคตข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นแนวโน้มของลูกค้าในอนาคต หรืออนาคตข้างหน้าเมืองจะเน้นการเป็น smart city ภาคธุรกิจก็สามารถทำ collaborate กับภาครัฐในการลงทุนทำเมืองให้สมาร์ทขึ้นมาได้

      หรืออย่างง่ายๆ ในอนาคต consumer มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ก็ทำให้ภาคธุรกิจต้องคิดหาสินค้า บริการ หรือสถานที่ใหม่ๆ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนเมือง


      3. คน

      คนในที่นี้อาจจะมองได้ 3 มุมคือ citizen, customer และ worker ซึ่งปัจจุบัน อิทธิพลที่มีต่อคนมากๆ ก็คือโลกออนไลน์ ที่ทำให้เกิด virtual communities เต็มไปหมด

      สิ่งที่ตามมาคือคนคอนเน็กต์กันมากขึ้น ทำให้เกิด citizen power

      ดังนั้นในอนาคตต่อไป คนหรือประชาชนจะมีบทบาทในการกำหนดเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางตรงคือกับเมืองเลย กับทางอ้อมคือผ่านทางธุรกิจ แล้วทำให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ๆ

      Citizen: คนใช้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่สร้างอำนาจในการต่อรอง ควบคุม เรียกร้อง ในการกำหนดเมือง เช่น Change.org ที่ทำให้เกิดการต่อต้านหรือตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องเมือง

      Customer: แนวโน้มธุรกิจยุค 4.0 จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า co-creation หรือการที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการทำงานกับแบรนด์ผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ดังนั้น ความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นตัวกำหนดธุรกิจ สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจก็จะสร้างสินค้า บริการ หรือสถานที่ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ในเมืองขึ้นมา เช่น ตอนนี้ก็มีคาเฟ่และร้านกาแฟเพิ่มมากขึ้น เกิดแกลเลอรีมากขึ้น

      Worker: อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ภาคธุรกิจมองเมืองในแง่ของ customer และ talent ฉะนั้น ลักษณะของชาวเมืองจะเป็นสิ่งที่จะดึงดูดหรือไม่ดึงดูดภาคธุรกิจ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เราทุกคน (คนไทย คนกรุงเทพฯ) ก็ต้องกลับไปคิดด้วยว่าทิศทางของเราจะเป็นตลาดแรงงานในแบบไหน


สรุปและทิ้งท้าย

      ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นคร่าวๆ เมือง ธุรกิจ และคน สัมพันธ์และพลวัตต่อกัน
      จากนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องคิดว่าจะวางแผนในอนาคตต่อจากนี้อย่างไรดี

      แต่ผมอยากทิ้งท้ายไว้ในฐานะนักการตลาดว่า ไม่ว่าจะออกแบบเมืองให้เป็นอย่างไร สำคัญต้องคำนึงถึง Human-Centric หรือคิดถึงมุมของคนก่อนด้วยครับ

      เรื่องนี้เล่าโดย Rory Sutherland ซึ่งเป็นนักการตลาดชาวอังกฤษครับ

      เขาถึงรถไฟ Eurostar ซึ่งวิ่งจากลอนดอนไปปารีส ซึ่งใช้เวลาวิ่งทั้งหมด 3 ชั่วโมง 30 นาที

      เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วก็มีเสียงวิจารณ์จากลูกค้าว่ามันนานจัง น่าเบื่อ เป็นประสบการณ์การนั่งรถไฟที่ไม่ดี

      ผู้บริหารของ Eurostar ก็มาคุยกับทีมวิศวกรพร้อมโจทย์ที่ผมโควตมาเลยนะครับว่า

      “How do we make a trip to Paris better?”

      คุณคิดว่าสิ่งที่วิศวกรทั้งหลายทำคืออะไรครับ?

      แน่นอน ต้องทำให้มันเร็วขึ้น

      พวกเขาสร้างรางใหม่ครับ ซึ่งทำให้ลดเวลาการเดินทางไป 40 นาที

      เหลือ 2 ชั่วโมง 50 นาที หมดเงินไป 6,000 ล้านปอนด์

      เรื่องนี้จบไปแล้ว แต่ Rory Sutherland ตั้งโจทย์ที่น่าคิดไว้ว่า ถ้าเราไม่ทำรางใหม่ ไม่ทำอะไรเลย และให้มันวิ่ง 3 ชั่วโมงครึ่งแบบเดิมนี่แหละ

      แต่ว่าเอาเงินมาจ้างนายแบบและนางแบบระดับท็อปของโลกมาเดินเสิร์ฟแชมเปญ Chateau Petrus ตลอดทริปแบบนอนสต็อป

      เราก็ใช้เงินไปสัก 2 พันกว่าล้านปอนด์ได้ และผู้โดยสารจะขอให้รถไฟวิ่งช้าลงด้วย 🙂

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising