×

ธปท. เผย ธุรกิจโรงแรม-ทัวร์-ท่องเที่ยว อาจลดจ้างงาน คงมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัว 5.3%

31.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (31 มีนาคม) ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการธุรกิจ พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะลดระดับการจ้างงานในระยะต่อไป

ทั้งนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจท่องเที่ยว/ทัวร์, โรงแรม ถัดมาคือธุรกิจสายการบิน ตามด้วยธุรกิจค้าปลีก, สถานบันเทิง/บริการ ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยลงมา ได้แก่ กลุ่มอาหาร, รถยนต์/ชิ้นส่วน, อสังหาริมทรัพย์, ผลไม้, เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบด้านบวก ได้แก่ ถุงมือยาง, หน้ากากอนามัย, มันสำปะหลัง และข้าวหอมมะลิ

 

 


อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงสมมติฐานว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ปี 2563 จะติดลบ 5.3% ในส่วนเดือนกุมภาพันธ์นี้ เศรษฐกิจไทยหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง 42.8% 

ขณะที่การส่งออกและการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของจีน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2563  มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเช่นกัน

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะติดลบทั้งปี หดตัวต่อเนื่องทุกไตรมาส โดยจะหดตัวมากที่สุดในไตรมาส 2 เพราะมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงมากที่สุด และตามสมมติฐานหากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในไตรมาส 2 จะทำให้ไตรมาส 3 และ 4 สถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยต่างประเทศที่ยังต้องจับตามองต่อเนื่อง” ดอนกล่าว

 

ทั้งนี้สมมติฐาน GDP ที่ติดลบ 5.3% มีการรวมผลมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เข่น การแจกเงินเยียวยา 5,000 บาทในกลุ่ม 3 ล้านคน หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 45,000 ล้านบาท ถือว่าไม่สูงมาก แต่เมื่อมีคนมาลงทะเบียนเกิน 10 ล้านคน หากมีการจ่ายเงินเยียวยามากกว่าอาจมีผลกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้ชดเชยการย่อตัวของ GDP มากนัก

 

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองหากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 ซึ่งจากที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจะออกมาตรการใหม่ที่มีมูลค่ามากกว่ามาตรการเฟส 1 และเฟส 2 ที่รวมกันราว 4 แสนล้านบาท ดังนั้นหากรวมมาตรการทั้ง 3 เฟสอาจมีมูลค่าราว 2-3% ของ GDP

 

“อัตราการว่างงานของไทยตอนนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่อัตราว่างงานปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับรายได้ของแรงงานที่หายไป ดังนั้นจึงต้องรอดูในระยะต่อไปว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในกลุ่มคนที่ตกงานอย่างไร” 

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.74% ลดลงจากเดือนก่อนจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับสูงขึ้น ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาก แม้รายรับภาคการท่องเที่ยวลดลง ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และสถาบันรับฝากเงิน (ODCs) เป็นสำคัญ และด้านหนี้สินตามการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันรับฝากเงินเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างประเทศ สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนในภูมิภาค

 

ส่วนเสถียรภาพสถาบันการเงินไทยยังดีกว่าช่วงปี 2540 โดยมาตรการดูแลตราสารหนี้เป็นมาตรการที่ไม่เคยใช้มาก่อน และเมื่อออกมาเป็นบาทจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินสำรองระหว่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X