×

‘บุรีรัมย์ Blue Lock’ ทางเลือก ความฝัน และวันพรุ่งนี้ของฟุตบอลไทย?

29.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • สมาคมฯ และสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำข้อตกลงร่วมกัน ที่จะสร้างทีมชาติไทย เพื่อเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ปี 2025 โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของเอเชีย 
  • ในฝ่ายที่สนับสนุนบอกว่าในเมื่อฟุตบอลไทยพยายามในแบบเดิมๆ มาหลายปี โดยเฉพาะหลายปีที่ผ่านมาที่เสียเวลาและเงินมากมายไปกับ ‘เอคโคโน’ (Ekkono Method Soccer Services) บริษัทจากสเปนที่ถูกจ้างมาเพื่อดูแลระบบฟุตบอลเยาวชนทีมชาติไทยตั้งแต่ปี 2017 แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง การลองอะไรใหม่ๆ บ้างอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้
  • ชาติที่ทำผลงานได้ดีในฟุตบอลโลกไม่ได้มีโครงการแบบ Blue Lock หากแต่ใช้ระบบการพัฒนาเยาวชนที่หยั่งรากฝังลึกมานาน และอดทนมากพอที่จะให้ไม้ที่ปลูกนั้นเติบใหญ่เพื่อจะออกดอกออกผลในวันหน้า สร้างระบบนิเวศฟุตบอล (Ecosystem) ให้ยั่งยืน 
  • ทางเลือก ความฝัน และวันพรุ่งนี้ของฟุตบอลไทยจึงไม่ได้อยู่แค่โครงการระยะสั้นอย่าง Blue Lock แต่อยู่ที่การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจริงๆ การสนับสนุนที่ถูกต้อง และการวางรากฐานที่ยั่งยืน อดทนที่จะรอคอยผลผลิตในอีก 30-50 ปีข้างหน้า

ย้อนกลับไปในช่วงฟุตบอลโลกหนึ่งในทีมที่สร้างความประทับใจให้แก่แฟนฟุตบอลทั่วโลกมากที่สุดคือทีมชาติญี่ปุ่น ที่สามารถล้มยักษ์อย่างเยอรมนีและสเปนได้อย่างน่าประทับใจ

 

หนึ่งในสิ่งที่ถูกนำมาพูดถึงในความสำเร็จของญี่ปุ่นย่อมหนีไม่พ้นเรื่องราวของ ‘แรงบันดาลใจ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชาติจากแดนอาทิตย์อุทัยถนัดในความเป็นนักฝันและช่างจินตนาการ และนั่นทำให้อนิเมะที่มาจากมังงะชื่อดังอย่าง ‘Blue Lock’ กลายเป็นที่พูดถึงไปด้วย เพราะเป็นการ์ตูนที่กำลังโด่งดังในยุคสมัยนี้โดยก้าวมาแทนที่ของ Captain Tsubasa

 

ในรายการ ‘The Champion’ ช่วงฟุตบอลโลก THE STANDARD เองก็เคยมีการเปรียบเทียบกันสนุกๆ ระหว่างผู้เล่นแนวรุกทีมชาติญี่ปุ่นกับตัวละครในเรื่อง Blue Lock เช่นกัน

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือในประเทศไทยเองก็มีการพูดถึงเรื่อง Blue Lock เหมือนกัน และกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตพอสมควรเมื่อทางสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เสนอแนวคิดโปรเจกต์ในการพัฒนาทีมชาติไทยชุดเยาวชนในรูปแบบใหม่ ซึ่งในรายละเอียดมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนิเมะอย่างมาก


ตกลงแล้วเรื่องนี้จะเป็นความจริงไหม เป็นไปได้แค่ไหน และนี่คือทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับความฝันและวันพรุ่งนี้ของฟุตบอลไทยหรือเปล่า?

 

ถอดรหัส ‘Blue Lock’ แบบไทยๆ

2 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการแถลงข่าวความร่วมมือกับสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในโปรเจกต์พิเศษเพื่อสร้างทีมชาติไทยรุ่นใหม่

 

เป้าหมายอยู่ที่การก้าวขึ้นสู่การเป็น Top 10 ของเอเชียภายใน 3 ปี และก้าวไปสู่ฟุตบอลโลกรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีภายในปี 2025


“สมาคมฯ และสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทำข้อตกลงร่วมกัน ที่จะสร้างทีมชาติไทยเพื่อเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ปี 2025 โดย มีเป้าหมายที่จะเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของเอเชีย โดยมี ชนน์ชนก ชิดชอบ เป็นผู้จัดการทีมชาติไทยชุดนี้ และ มิลอส เวเลบิต กุนซือชาวเซอร์เบีย เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน” ถ้อยแถลงในวันนั้น

 

รายละเอียดโดยคร่าวๆ ของโครงการมีดังนี้

 

  • ทีมชาติไทยชุดนี้จะสร้างขึ้นโดยแนวคิดการทำงานใหม่ เป้าหมายชัดเจน คัดนักฟุตบอลที่มีอายุไม่เกิน 18 ปีมาเก็บตัวฝึกซ้อมร่วมกันที่บุรีรัมย์เป็นเวลาต่อเนื่องกัน 3 ปี
  • สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ คาดว่าใช้งบประมาณปีละ 15-20 ล้านบาท
  • หน้าที่ของเด็กที่ได้รับการคัดเลือกคือการทำหน้าที่ให้ดีทั้งการเรียนและการฝึกฟุตบอล

 

สำหรับขั้นตอนในการคัดเลือกนักฟุตบอลนั้นเป็นหน้าที่ของสโมสรบุรีรัมย์

  1. คัดเลือกนักฟุตบอลอายุ 18 ปีที่เก่งที่สุด 200 คนมาอยู่ร่วมกัน
  2. คัดรอบแรกตัดเหลือ 100 คน
  3. 100 คนที่ผ่านการคัดเลือกฝึกซ้อมต่ออีก 2 สัปดาห์ ก่อนจะคัดคนที่ดีที่สุดไปเรื่อยๆ จนได้ 20 คนสุดท้าย
  4. นักเตะ 20 คนที่เหลือคือผู้เล่นชุด ‘U-20’ ของไทย แต่จะมีการประเมินผลงานทุก 3 เดือน หากผลงานตกจะถูกคัดชื่อทิ้ง และให้โอกาสคนที่เป็นตัวสแตนด์บายขึ้นมา เพื่อรักษาความกระตือรือร้นของเด็ก

 

การคัดเลือกรอบแรกมีขึ้นไปแล้วในระหว่างวันที่ 20-25 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่แคมป์เก็บตัวของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และจะมีการคัดเลือกต่อเนื่องในปี 2023 โดยแผนที่ทีมบุรีรัมย์วางเอาไว้ต่อจากนี้คือ

 

  • ทีมบุรีรัมย์ Blue Lock จะต้องลงอุ่นเครื่องกับทีม B กับสโมสรในไทยลีกทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีเกมการแข่งขันตลอด
  • ภายในปี 2024 ลงแข่งรายการฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรอบคัดเลือก เป้าหมายคือการต้องเข้ารอบสุดท้ายให้ได้
  • ภายในปี 2025 ถ้าผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย เป้าหมายอยู่ที่การเข้ารอบฟุตบอลโลก U-20

 

ความแตกต่างระหว่าง Blue Lock แท้กับ Blue Lock ไทย

ย้อนกลับมาดูที่อนิเมะเรื่อง Blue Lock ที่ถูกนำมาโยงเป็นต้นแบบบ้าง

 

ผลงานของ มุเนยูกิ คาเนชิโระ ผู้เขียนเรื่อง และ ยูสึเกะ โนมุระ ผู้วาดภาพ เปิดประเด็นมาที่เรื่องความล้มเหลวของทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก 2018 (ในชีวิตจริงโค้ชคือ อากิระ นิชิโนะ ที่มารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติไทยในเวลาต่อมา) ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลและชาวญี่ปุ่นไม่พอใจ

 

ความไม่พอใจดังกล่าวทำให้เกิดโปรเจกต์สุดแหวกแนวที่เรียกว่า Blue Lock ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่จะรวบรวมเหล่าเด็กที่เรียนในระดับไฮสคูล (มัธยมศึกษาตอนปลาย) ที่เล่นในตำแหน่ง ‘Striker’ (หรือกองหน้าตัวจบสกอร์) มารวมตัวในแคมป์ เพราะปัญหาที่ผ่านมาของญี่ปุ่นคือการที่ขาดกองหน้าที่มีความสามารถจะช่วยพาทีมให้เอาชนะคู่แข่งได้

 

ในแต่ละวันเด็กๆ ทุกคนในแคมป์จึงต้องพยายามอย่างสุดความสามารถจริงๆ เพื่อจะเร่งพัฒนาตัวเองและเอาตัวรอดจากการแข่งขันที่เข้มข้น รุนแรง บีบคั้น เพราะจะมีเพียงคนที่เก่งที่สุดเท่านั้นที่จะได้ไปฟุตบอลโลก และคนที่ถูกคัดออกจะ ‘หมดสิทธิ์ติดทีมชาติตลอดชีวิต’

 

พูดง่ายๆ คือเป็นเรื่องแนว Survival เอาตัวรอด แข่งขัน ขับเคี่ยว (ผู้เขียนเรื่องเคยเขียนมังงะชื่อดังที่ชื่อ ‘เกมเทวดา’ Kami-sama no Iu Tōri มาก่อน) มากกว่ามังงะแนวโชเน็นทั่วไปที่เน้นประเด็นเรื่องของมิตรภาพ ความสัมพันธ์ ความผูกพัน และเทคนิคเหนือจินตนาการเหมือน Captain Tsubasa, Shoot!, J-Dream

 

ขณะที่มังงะเรื่องอื่นฟุตบอล ‘เล่นเป็นทีม’ แต่สำหรับที่ Blue Lock ‘ฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นคนเดียว’!

 

ทีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ บุรีรัมย์ Blue Lock แล้วจะพบความแตกต่างในรายละเอียดในจุดสำคัญๆ อยู่

 

  • Blue Lock แบบไทยไม่ได้รวบรวมจุดที่เป็นปัญหาเดียวอย่างกองหน้า แต่เป็นการเรียกมาคัดตัวเพื่อสร้างทีมทั้งทีม
  • เป้าหมายในมังงะคือการพาทีมชาติญี่ปุ่นไปให้ไกลกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งเป็นกำแพงที่พวกเขายังฝ่าไปไม่ได้ (แม้กระทั่งในฟุตบอลโลก 2022) เป็นเรื่องของการต่อยอด
  • ส่วนของไทยคือการเข้ารอบฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลก U-20 ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายในระยะสั้น
  • การเก็บตัวฝึกซ้อมของไทยย่อมไม่ได้มีอะไรแฟนตาซี หรือท้าทายขีดความสามารถเหนือมนุษย์เหมือนในมังงะ แต่เป็นการเก็บตัวฝึกซ้อมฟุตบอลทั่วไป

 

กระแสตอบรับที่หลากหลาย ทั้งดอกไม้และก้อนหิน

นับจากที่โครงการนี้มีการเปิดเผยออกมาจนถึงตอนนี้ที่เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากทั้งคนในวงการและแฟนฟุตบอลทั่วไป

 

ในฝ่ายที่สนับสนุนบอกว่าในเมื่อฟุตบอลไทยพยายามในแบบเดิมๆ มาหลายปี โดยเฉพาะหลายปีที่ผ่านมาที่เสียเวลาและเงินมากมายไปกับ ‘เอคโคโน’ (Ekkono Method Soccer Services) บริษัทจากสเปนที่ถูกจ้างมาเพื่อดูแลระบบฟุตบอลเยาวชนทีมชาติไทยตั้งแต่ปี 2017 แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง การลองอะไรใหม่ๆ บ้างอาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็ได้

 

อย่างน้อยแบรนด์ ‘บุรีรัมย์’ ภายใต้การดูแลของ เนวิน ชิดชอบ ก็พิสูจน์ผลงานให้เห็นถึงคุณภาพในวงการฟุตบอลไทยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เด็กจากอคาเดมีของทีม ‘ปราสาทสายฟ้า’ ล้วนเป็นผู้เล่นที่มีคุณภาพสูง สุภโชค สารชาติ ก็ไปได้ไกลถึงระดับเจลีก กับทีมฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร


การให้สโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นมืออาชีพและพิสูจน์ผลงานมาแล้วมากมายเป็นผู้ดูแล อย่างน้อยก็น่าจะการันตีได้ว่าเด็กจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดในสภาพแวดล้อมของหนึ่งในสโมสรที่ดีที่สุดในประเทศไทย

 

ปัญหาเรื่องของการไม่ได้รับความร่วมมือจากสโมสรในการปล่อยตัวเยาวชนให้ทีมชาติจะหมดไป เรื่องทีมเวิร์กในการเล่นที่เล่นเหมือนไม่ได้ซ้อมด้วยกันมา (ซึ่งก็มีการพูดกันว่าก็แทบไม่มีเวลาเก็บตัวด้วยกันจะเข้าขาได้อย่างไร) ก็น่าจะหมดไปด้วย

 

ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าโครงการนี้มีความลักลั่นและมีคำถามอยู่มาก โดยเฉพาะสโมสรคู่แข่งของบุรีรัมย์หลายแห่งที่มองว่าทำไมต้องยอมส่งเด็กที่ดูแลมาอย่างดีตลอดหลายปีที่ผ่านมาและเป็นความหวังของสโมสรไปอยู่ในมือคู่แข่งด้วย

 

ไม่นับเรื่อง ‘โอกาส’ และ ‘อนาคต’ ของเด็ก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือก ชีวิตในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

 

และสำคัญที่สุดมีอะไรที่การันตีโครงการนี้ได้บ้าง ในเมื่อแม้แต่ เนวิน ชิดชอบ เองยังยอมรับว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงในขั้วอำนาจของสมาคมฟุตบอลฯ ที่จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ในปี 2024 และทางสมาคมต้องการที่จะกลับมารับผิดชอบทีมชาติชุดเยาวชนเองอีกครั้งก็ยินดีที่จะส่งคืนกลับให้

 

ฟังแล้วหลายคนก็อาจจะร้องอ้าว…พร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย

 

ความฝัน และวันพรุ่งนี้ของฟุตบอลไทย?

มองอย่างเปิดใจและพยายามใจกว้างอย่างที่สุดโดยตัดเรื่องอคติ ผลประโยชน์แอบแฝงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจตามวัตถุประสงค์ โครงการ ‘บุรีรัมย์ Blue Lock’ หรือ ‘ช้างศึกสายฟ้า’ เป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่วงการฟุตบอลไทย โดยเฉพาะในระดับเยาวชนทีมชาติที่ปัจจุบันน่ากังวลอย่างมาก เพราะชาติในอาเซียนไล่ตามทันและแซงหน้าไปแล้ว

 

สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ไม่จำเป็นจะต้องทำแบบนี้เลยก็ได้เพราะพวกเขามีระบบเยาวชนที่แข็งแกร่งที่สุดสโมสรหนึ่งของประเทศ มีแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับ ไม่นับค่าใช้จ่ายไม่น้อยในส่วนนี้ที่ต้องลงทุน (ในขณะที่สมาคมฟุตบอลฯ ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง ไม่มีงบประมาณใดๆ) เรียกว่าเปลืองทั้งตัว เปลืองทั้งตังค์ แต่ เนวิน ชิดชอบ ก็ตัดสินใจที่จะยื่นมือมาช่วย

 

หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยจะเป็นการแก้ปัญหาของฟุตบอลไทยในระยะสั้น ดัชนีความสุขในเรื่องของฟุตบอลของแฟนๆ ในชาติจะกลับมา

 

ดีไม่ดีกระแสความเครซีทีมชาติไทย (ซึ่งสำคัญมากต่อวงการฟุตบอลบ้านเรา) อาจจะกลับมาเหมือนในยุค 90 ที่มี ‘ดรีมทีม’ ทั้งชุดใหญ่และชุดเล็กที่เคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลชิงแชมป์โลกในรุ่น U-17 มาแล้ว (แต่ก็เป็นความจริงที่มันไม่ขาวสะอาดนัก)

 

เด็กที่ผ่านโครงการนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยในอนาคต และเป็น Benchmark ที่นักเตะที่อยากติดทีมชาติต้องไล่ตามให้ทัน ซึ่งหากมาตรฐานสูงอย่างที่ควรคาดหวัง สมมติมี สุภโชค สารชาติ หรือ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา อีก 20 คน ทีมชาติไทยน่าจะดีขึ้นไม่น้อย

 

ดีไม่ดีเมื่อถึงปี 2025 เราอาจจะพูดถึงฟุตบอลโลก 2030 กันแบบมีความหวังมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี นั่นเป็นแค่ความคาดหวังที่ไม่มีอะไรการันตีได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามารถคาดหวังและการันตีได้จริงๆ ในการพัฒนาวงการฟุตบอลคือการสร้าง ‘ระบบ’ ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม

 

ในฟุตบอลโลก 2022 มีหลายทีมที่ทำผลงานได้ ‘ใหญ่เกินตัว’ ไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่นแต่ยังมีเกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, ซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงม้ามืดตัวจริงของรายการอย่างโมร็อกโกที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้เป็นชาติแรกของทวีปแอฟริกา

 

ชาติเหล่านี้ไม่ได้มีโครงการแบบ Blue Lock หากแต่ใช้ระบบการพัฒนาเยาวชนที่หยั่งรากฝังลึกมานาน และอดทนมากพอที่จะให้ไม้ที่ปลูกนั้นเติบใหญ่เพื่อจะออกดอกออกผลในวันหน้า สร้างระบบนิเวศฟุตบอล (Ecosystem) ให้ยั่งยืน เพราะฟุตบอลไม่ได้มีแค่นักฟุตบอล แต่ประกอบไปด้วยบุคลากรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโค้ช (แยกไปอีกโค้ชแบบไหน) นักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักจิตวิทยากีฬา นักโภชนาการกีฬา นักวิเคราะห์สถิติ

 

คำถามคือไทยทำไมไม่ทำแบบนี้?

 

เราพูดเรื่องแบบนี้มานานมากแล้ว และเหมือนจะมีความพยายามที่จะทำให้เป็นระบบในช่วงที่ผ่านมา จำได้ไหมกับ ‘Thailand Way’ แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน ฟุตบอลไทยอยู่ในสภาพเละตุ้มเป๊ะแบบในปัจจุบัน ที่เรากลับมาโฟกัสกับแค่ ‘อาเซียน’ อีกครั้ง ไม่ต่างจากคนที่ว่ายน้ำไม่แข็งและกำลังจะจมน้ำต้องรีบโผล่พ้นน้ำเพื่อสูดอากาศสักเฮือก

 

บางที ‘เรา’ ในความหมายถึงทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาคมฟุตบอลฯ เหล่าสโมสรต่างๆ บรรดาโค้ช ไปจนถึงนักเตะตัวน้อยๆ และพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรจะต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันใหม่ทั้งหมดก่อน

 

ก่อนจะแก้ไขปัญหาต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อน หยุดโทษกัน หยุดคำว่า ‘พวกกู-พวกมึง’ จากนั้นทุกอย่างจึงจะสามารถก้าวเดินต่อไปได้

 

หามืออาชีพที่มีความสามารถจริงๆ ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการวางรากฐานพัฒนาวงการฟุตบอลอย่างเป็นรูปธรรมเข้ามา ที่ต้องมีมากกว่าแค่คำว่ารัก เพราะรักอย่างเดียวมันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาได้ และไม่ได้มีแค่เงิน เพราะมีเงินก็ไม่ได้แปลว่าจะมีฝีมือหรือเข้าใจงาน

 

ใครถนัดอะไร ช่วยตรงนั้นไม่ดีกว่าหรือ

 

ทางเลือก ความฝัน และวันพรุ่งนี้ของฟุตบอลไทยจึงไม่ได้อยู่แค่โครงการระยะสั้นอย่าง Blue Lock แต่อยู่ที่การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจริงๆ การสนับสนุนที่ถูกต้อง และการวางรากฐานที่ยั่งยืน อดทนที่จะรอคอยผลผลิตในอีก 30-50 ปีข้างหน้า

 

กรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้สร้างขึ้นในวันเดียวฉันใด ฟุตบอลไทยก็ต้องใช้เวลาในการสร้างขึ้นมาฉันนั้น

 

ถ้าทำได้ เราอาจจะไม่ได้หยุดอยู่แค่การไปฟุตบอลโลกสักครั้ง


เราอาจทำได้เหมือนญี่ปุ่นที่คิดจะฝ่ากำแพงรอบ 16 ทีมสุดท้ายให้ได้จนเกิดมังงะอย่าง Blue Lock ขึ้นมา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X