×

‘1 ชีวิต’ แลกอะไร? กระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่นับหนึ่ง ข้อเรียกร้องของ ‘บุ้ง เนติพร’ ที่ไม่บรรลุผล

15.05.2024
  • LOADING...
เนติพร เสน่ห์สังคม

HIGHLIGHTS

4 min read
  • เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ประกาศอดอาหารเป็นเวลา 109 วัน เพื่อเรียกร้องให้มีการ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ และ ‘ไม่คุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง’ ชนิดที่ว่าเอาชีวิตเข้าแลก
  • ตัวแทนของรัฐบาลเน้นไปที่การหาสาเหตุการเสียชีวิต และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ แต่สังคมต้องตั้งหลักว่านี่เป็นคนละประเด็นกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามข้อเรียกร้อง
  • มุมมองที่หลากหลายของแต่ละฝ่ายการเมือง บ้างเรียกร้องสิทธิประกันตัว บ้างมองว่าเป็นเหยื่อการเมือง ขณะที่บางฝ่ายเชื่อว่าถึงเวลาปฏิรูปทั้งระบบ แต่ยังทำได้ไม่ถึงไหน เพราะเป็นปัญหาแบบวัวพันหลัก

“ต้องรอให้มีคนตายก่อนหรือ ถึงจะทำให้สังคมตระหนักว่าคนเห็นต่างไม่สมควรติดคุก และสิทธิการประกันตัวเป็นของทุกคน”

 

ข้อความข้างต้นยกมาจากโพสต์ของ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่ตั้งคำถามขึ้นภายหลังปรากฏข่าวการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง’ นักกิจกรรมกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

“หรือแม้แต่มีคนตายแล้ว ก็ยังจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้กันอีก?” พรรณิการ์ทิ้งท้าย ซึ่งในที่สุดแล้ว คำถามดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่เสียงตะโกนในความเงียบหรือไม่ หรือชีวิตหนึ่งที่สูญเสียไปจะนำมาสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ‘โดยแท้จริง’ เสียที?

 

เนติพร เสน่ห์สังคม

 

109 วัน อารยะขัดขืนของบุ้ง: ชีวิตแลกอะไร?

 

เนติพร หรือ บุ้ง เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ด้วยคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สืบเนื่องจากการทำโพลสอบถามความคิดเห็นเรื่องขบวนเสด็จฯ และศาลอาญามีคำสั่งถอนประกัน

 

เธอเริ่มอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2567 กระทั่งถึงวันสุดท้ายในชีวิตของเธอ นับเป็นระยะเวลา 109 วัน

 

ทำไมนักกิจกรรมต้องอดอาหาร? ประเด็นนี้ Gene Sharp นักวิชาการชาวอเมริกัน ได้อธิบายไว้ในหนังสือ The Politics of Nonviolent Action ในเรื่องของ Hunger Strike โดยให้นิยามว่า เป็นการปฏิเสธที่จะกินอาหารโดยมีเป้าหมายบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง

 

“การอดอาหารอาจมีหรือไม่มีกำหนดเวลา หรืออดจนกระทั่งถึงแก่ความตายหากไม่บรรลุซึ่งข้อเรียกร้อง นักโทษคุมขังที่รู้สึกว่าไม่มีวิธีการประท้วงอื่นใดแล้ว ก็จะใช้วิธีอดอาหาร”

 

ท่ามกลางความเห็นต่างในแง่วิธีการต่อสู้เรียกร้อง แต่บนหลักการไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวิธีอดอาหารของบุ้งคือหนึ่งในสันติวิธี โดยการนำร่างกายของตัวเองมาเป็นอาวุธสุดท้ายเพื่อแสดงความขัดขืนต่ออำนาจที่เหนือกว่า หรือที่บางคนเรียกว่า ‘เอาชีวิตเข้าแลก’

 

 

ในกรณีของเนติพร เธอได้ยกระดับการต่อสู้ด้วยการแสดงความประสงค์ไม่รับบริการสาธารณสุขเพื่อยื้อชีวิตไว้ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567

 

แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือข้อเรียกร้องของเนติพรที่ประกอบด้วย

  • ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  • ต้องไม่มีผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีกในอนาคต

 

ข้อเรียกร้องเหล่านี้มีวี่แววจะบรรลุผลหรือไม่ และคุ้มแล้วหรือยังต่อชีวิตหนึ่งที่สูญไป?

 

หาสาเหตุการเสียชีวิต: ระวัง ‘เส้นผมบังภูเขา’

 

การเสียชีวิตของคนหนึ่งคนสร้างผลสะเทือนทั้งระดับประเทศและระดับโลก สื่อต่างประเทศหลายสำนักล้วนรายงานข่าวดังกล่าว พร้อมตั้งคำถามไปถึงท่าทีของรัฐบาลไทยที่ยังคงเพิกเฉยต่อการบังคับใช้มาตรา 112 มาเป็นคดีการเมือง

 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า “รู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง” ต่อการเสียชีวิตของเนติพร พร้อมเรียกร้องให้มีการสอบสวนการเสียชีวิตและการรักษาอย่างโปร่งใส

 

ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสงสัยถึงมาตรฐานการดูแลผู้ถูกคุมขังของภาครัฐ ว่ามีส่วนกระทบกับสุขภาพของเนติพรหรือไม่ เช่นที่ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเนติพรหัวใจหยุดเต้น โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพไม่เพียงพอในการดูแล เพราะใช้เวลาปั๊มหัวใจนานกว่าจะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

 

เนติพร เสน่ห์สังคม

 

“ประเด็นที่บุ้งจะกินข้าวหรือไม่กินนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสำคัญคือรัฐจะดูแลคนที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิดได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่ และหากวันหนึ่งศาลตัดสินยกฟ้องขึ้นมา แล้วเขามาตายในโรงพยาบาล เป็นสิ่งที่ไม่สมควร” กฤษฎางค์ระบุ

 

ด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเสียใจเช่นกัน โดยสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมสอบสวนรายละเอียดการเสียชีวิต พร้อมทั้งเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมได้ยินเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวเยาวชนที่เป็นนักโทษคดีการเมืองคนอื่นๆ ด้วย

 

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ระบุว่า เชื่อมั่นในกระบวนการชันสูตรว่าจะมีความโปร่งใส และลดความรู้สึกไม่สบายใจของแต่ละฝ่ายลงได้

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของรัฐบาลทั้ง 2 ยังไม่มีใครพูดถึงข้อเรียกร้องของผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

 

“หากร่างกายมาถึงจุดที่ไม่สามารถดูแลได้แล้วก็ยาก ต่อให้เป็นแพทย์เทวดาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้” นพ.สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงการดูแลผู้ต้องขังที่ต้องการอดอาหารเพื่อแสดงเจตนารมณ์จนกระทบต่อสุขภาพ

 

ถ้อยคำของผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ รวมถึงท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ได้สะท้อนให้เห็นว่าข้อเรียกร้องของบุ้งกำลังถูกมองข้าม เพราะสาเหตุที่เนติพรต้องอดอาหารจนถึงแก่ชีวิตนั้น ก็เพราะต้องการเรียกร้องให้ ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม’ รวมถึง ‘หยุดคุมขังผู้เห็นต่าง’

 

ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะช่วยยื้อชีวิตเธอได้คือการ ‘ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง’ ไม่ใช่ ‘หมอเทวดา’ ที่ไหนมารักษาให้

 

สังคมจึงควรตั้งหลักให้มั่นว่าเรื่องการตรวจสอบรายละเอียดสาเหตุการเสียชีวิต เพื่อนำไปสะท้อนการดูแลผู้ถูกคุมขังโดยภาครัฐ ‘เป็นคนละเรื่อง’ กับข้อเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มีผู้ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อมัน

 

เหยื่อการเมือง วัวพันหลัก: สารพัดอุปสรรคปฏิรูปยุติธรรม

 

 

ถึงกระนั้นเองก็มีฝ่ายการเมืองไม่น้อยเลือกมองกรณีนี้ในมุมที่กว้างกว่าการสืบค้นสาเหตุการเสียชีวิต อีกทั้งยังมีท่าที ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเรียกร้องต่อ ‘หัวใจของปัญหา’ คือกระบวนการยุติธรรม ที่แตกต่างกันไป

 

สส. พรรคก้าวไกลหลายคนที่มีประวัติเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจากไปของบุ้ง ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะแถลงอย่างเป็นทางการในนามพรรค โดยเนื้อหาสำคัญกล่าวถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เห็นต่างทางการเมือง ด้วยการคืนสิทธิประกันตัว และเร่งรัดกระบวนการนิรโทษกรรมคดีการเมือง

 

และในเวลาต่อมา พรรคไทยภักดี ซึ่งเป็นทราบโดยทั่วไปว่ามีจุดยืนทางอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกันข้ามกับพรรคก้าวไกล ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจและขออโหสิกรรมต่อเนติพร ทว่าในช่วงหนึ่ง พรรคไทยภักดีมองว่าเนติพรเป็นเพียงเหยื่อทางการเมืองของขบวนการที่มุ่งหมายจะล้มล้างการปกครองที่ใช้อุดมการณ์มาหลอกล่อให้กระทำผิดกฎหมาย

 

“การที่พรรคก้าวไกล นักการเมือง และนักกิจกรรมทั้งหลาย ต่างถามหาความรับผิดชอบจากกระบวนการยุติธรรมของไทยในทำนองที่ว่าไม่ควรมีใครต้องตายจากความเห็นต่างทางการเมือง และสิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

 

“นักกิจกรรมที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะตามมาตรา 112 หรือมาตราอื่นๆ ล้วนได้รับการประกันตัวทั้งสิ้น แต่เนื่องจากนักกิจกรรมเหล่านี้กลับไปกระทำความผิดในแบบเดิมๆ ซ้ำซาก มีคดีความเป็นสิบคดีหรือหลายสิบคดี ก็เป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่ศาลจะพิจารณาถอนประกันนักกิจกรรมทั้งหลาย” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ของพรรคไทยภักดีระบุ

 

พรรคไทยภักดียังยืนยันด้วยว่าเหตุที่เนติพรเสียชีวิตนั้นก็มาจากการประท้วงอดอาหาร ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด พร้อมสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายในประเด็นดังกล่าวต่อไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศ

 

ฟากของพรรคเพื่อไทยเอง ล่าสุด ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของพรรค ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ด้วย โดยระบุว่า ขอแสดงความเสียใจ เนติพรยังเป็นคนหนุ่มสาว ควรจะมีชีวิตยืนยาวไปอีกนาน และส่วนตัวก็เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากเธออยู่หลายครั้ง

 

เนติพร เสน่ห์สังคม

 

หากยังจำได้ ในห้วงของการจัดตั้งรัฐบาล กลุ่มทะลุวัง นำโดย เนติพร พร้อมด้วย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้เดินทางมายังพรรคเพื่อไทย และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านการจัดตั้งรัฐบาล จนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ในที่ทำการพรรค นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการเคลื่อนไหวดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยอมรับว่าข้อเรียกร้องของเนติพรที่ให้ปล่อยตัวเยาวชนคงเป็นปัญหาเดิมที่มีการเรียกร้องกันมา เหมือนเป็นวัวพันหลัก เพราะเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ พรรคเพื่อไทยเองเคยขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการประกันตัว โดยยืนยันว่ายกเว้นเฉพาะกรณีผู้ต้องหาจะหลบหนีเท่านั้น ตามหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด

 

“แต่ก็น่าเสียใจว่าทำไม่สำเร็จ ซึ่งทุกวันนี้เรายังคงยืนยันในแนวคิดนี้” ชูศักดิ์กล่าว “ผมมองว่าถึงเวลาที่ควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบได้แล้ว”

 

ท่ามกลางความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรม ที่ราวกับจะเป็นสภาวะ ‘ปกติใหม่’ ของสังคมไทย ประกอบกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างสุดโต่ง จนบ่อยครั้งแต่ละฝ่ายได้ถักทอ ‘เรื่องเล่า’ ของตัวเอง โดยนำความรู้สึกมาทาบทับหลักการที่ควรจะเป็น

 

การสละชีวิตของใครคนหนึ่งเพื่อยืนยันถึงข้อเรียกร้องครั้งนี้จะสามารถปลุกให้จิตสำนึกต่อหลักการของสังคมไทยตื่นขึ้นมา ‘นับหนึ่ง’ ได้หรือไม่ หรือก็เป็นเพียงอีกหนึ่งความสูญเสีย รอคอยให้ ‘รำลึก’ และ ‘ถอดบทเรียน’ กันต่อไปทุกๆ ปี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising