วานนี้ (28 มีนาคม) เกิดแผ่นดินไหวจากกลุ่มรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่พบรอยร้าวจำนวนมาก ทีม THE STANDARD ได้รวบรวมภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว
วันนี้ (29 มีนาคม) ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งวันเช้ามีประชาชนแจ้งรอยร้าวและความเสียหายของอาคารผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue กว่า 5,000 กรณี ซึ่งสะท้อนถึงการตื่นตัวของประชาชน โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตรวจสอบและปิดเรื่องที่ได้รับแจ้งเข้ามา
ทั้งนี้ มีวิศวกรอาสาเข้ามาร่วมสนับสนุนการทำงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือวุฒิวิศวกรโยธา ซึ่งจะรับผิดชอบกรณีที่ซับซ้อน ส่วนอีกทีมดูแลกรณีทั่วไป
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้จัดตั้งทีมกลางจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) เพื่อประสานข้อมูลกับวิศวกรอาสาที่ลงพื้นที่ พบว่าหลายกรณีเกิดขึ้นในอาคารเดียวกัน ซึ่งบางแห่งมีนิติบุคคลอาคารชุดหรือเจ้าของอาคารที่ต้องดำเนินการตรวจสอบตามรอบประจำปีอยู่แล้ว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้เจ้าของอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น และอยู่ใน 9 ประเภทที่ต้องตรวจสอบประจำปี เร่งดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยหลังเกิดแผ่นดินไหว พร้อมรายงานผลทุกวัน เพื่อช่วยลดภาระให้กับทีมวิศวกรอาสา ส่วนกรณีบ้านพักอาศัยที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น เบื้องต้นพบว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยง วิศวกรอาสาในพื้นที่จะลงไปตรวจสอบเพิ่มเติม
สำหรับแนวทางการตอบคำถามของประชาชนที่แจ้งเข้ามาเกี่ยวกับอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไป แบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1: หากพบว่าเป็นเพียงรอยร้าวผิวผนังหรือความเสียหายที่ไม่กระทบโครงสร้าง วิศวกรจะชี้แจงว่าสามารถอยู่อาศัยได้ และให้ปิดเรื่องเป็นอันเสร็จสิ้น โดยให้นิติบุคคลอาคารตรวจสอบเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
กรณีที่ 2: หากมีความไม่แน่ชัดหรือเข้าข่ายต้องสงสัย จะให้คำตอบในลักษณะเดียวกับกรณีแรก แต่จะยังไม่ปิดเรื่อง และส่งทีมวิศวกรลงตรวจสอบภายหลัง
กรณีที่ 3: หากพิจารณาจากภาพแล้วพบว่ารอยร้าวอาจกระทบโครงสร้างหลักของอาคาร จะประเมินว่าไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย และส่งทีมวิศวกรเข้าไปตรวจสอบทันที พร้อมแจ้งให้นิติบุคคลรับทราบ
“มีประชาชนแสดงความชื่นชมต่อระบบรับแจ้งเรื่องราวผ่าน Traffy Fondue ของ กทม. ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากวิศวกรจากหลายหน่วยงาน ที่รวมตัวกันได้อย่างรวดเร็วและทำงานอย่างเต็มที่ รู้สึกยินดีที่วิชาชีพวิศวกรสามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนกรุงเทพมหานครในช่วงสถานการณ์เช่นนี้” ศานนท์กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนพบรอยร้าวจากแรงแผ่นดินไหว และไม่แน่ใจว่าปลอดภัยในการอยู่อาศัยหรือไม่ สามารถแจ้งผ่าน Line @traffyfondue โดยดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
- แอดไลน์: @traffyfondue
- เลือกเมนู ‘แจ้งรอยร้าวอาคาร’ จากเมนูด้านล่าง
- ระบุข้อมูลและแนบรายละเอียด ได้แก่ ลักษณะของอาคาร, ความสูงของอาคาร, ขนาดของรอยร้าว (ระบุเป็นมิลลิเมตร), ชั้นที่พบรอยร้าว, เบอร์ติดต่อกลับ, รูปภาพหลายมุม (ทั้งมุมกว้างและมุมแคบ) และแชร์พิกัด (Location) ของอาคาร
- รอเจ้าหน้าที่ตอบกลับเพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ทุกช่องทางของกรุงเทพมหานคร หรือ โทร. 1555