เป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใดตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงเป็นเพียงตึกเดียวในกรุงเทพฯ ที่ถล่มจากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ทีมข่าว THE STANDARD จะพาไปเกาะติดการถล่มของตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าแท้จริงแล้วเกิดจากปัจจัยอะไรกันแน่
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมาขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ถือว่าเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่สร้างความเสียหายมหาศาลให้แก่เมียนมา ในขณะที่ไทยเราที่ถึงแม้จะได้รับเพียงแค่แรงสั่นสะเทือน แต่ก็ยังสร้างความหวาดผวาให้แก่คนไทยจนถึงวันนี้ เพราะสร้างความเสียหายให้แก่อาคารตึกสูงทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และพังถล่มลงมาเพียงแห่งเดียว คำถามคือทำไมตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงพังถล่มอยู่ตึกเดียว
ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับทีมข่าว THE STANDARD พร้อมวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่อาจเป็นไปได้อย่างน้อย 4 ประเด็น
- การออกแบบได้มาตรฐานหรือไม่ หรือถ้าหากแบบเป็นไปตามมาตรฐาน แต่มีการไปปรับเปลี่ยนแบบ
- ประเด็นนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบโครงสร้าง และดำเนินการตามวิชาชีพวิศวกรรม โดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคารสูง 3 ชั้น มีขนาดกว้างคูณยาว 1.40 x 1.40 เมตร ส่วนชั้น 29 ถึงดาดฟ้า เป็นเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.80 เมตร เพื่อรองรับหลังคาตึก เช่นเดียวกับการรับน้ำหนัก ความต้านทานและความคงทนของอาคาร ได้คำนวณรองรับเงื่อนไขที่ต้องทนทานในสภาพแผ่นดินไหว ตามประกาศกฎกระทรวง กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน
- การควบคุมการก่อสร้างเป็นไปตามแบบหรือไม่
- คุณภาพวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ทั้งเหล็ก ปูน คอนกรีต รวมถึงตัวต่อเหล็ก
- แรงสั่นสะเทือนในวันเกิดเหตุว่าเกินมาตรฐานหรือไม่ ศ. ดร.อมร อธิบายว่า ถ้าแรงไม่เกินมาตรฐานแต่ตึกกลับถล่มก็เท่ากับว่าความแข็งแรงของอาคารต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งประเด็นนี้สามารถตัดทิ้งได้เลย เนื่องจากถ้าแรงเกินมาตรฐานจริง ตึกอื่นๆ ก็ต้องถล่มบ้างเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่อง ‘คุณภาพวัสดุ’ กำลังเป็นที่สนใจมากที่สุด เนื่องจากในที่เกิดเหตุตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบเหล็กของสัญชาติจีนยี่ห้อ SKY หรือ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่ถูกสั่งปิดไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ในอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง จนนำมาสู่การตรวจสอบ และพบว่าบริษัทได้ทำการจัดซื้อวัสดุจากผู้จำหน่ายที่ไม่ได้รับการจดทะเบียน ตามมาด้วยการยึดเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวน 2,441 ตัน มูลค่าประมาณ 49.2 ล้านบาท ซึ่งผลการทดสอบยืนยันว่าเหล็กไม่ได้มาตรฐานด้านความแข็งแรง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสมบูรณ์ของโครงสร้าง โดยเหล็กที่ยึดได้มีทั้งเหล็กข้ออ้อยที่มีปัญหาเรื่องความสูงของบั้ง ซึ่งส่งผลต่อการยึดเกาะกับคอนกรีต และมีความผิดปกติทางเคมี อีกทั้งยังสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วย
จนนำมาสู่การส่งตัวอย่างเหล็กไปตรวจที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ผลปรากฏว่าไม่ผ่านอยู่ 2 ไซส์ คือเหล็กข้ออ้อยของ ซิน เคอ หยวน ไซส์ 20 มม. กับ 32 มม. จึงลงพื้นที่ไปยังโรงงาน ซิน เคอ หยวน ที่จังหวัดระยอง โดยทีมตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยก่อนหน้านี้คณะทำงานได้ตัดตัวอย่างเหล็กขนาด 32 มม. ซึ่งตรงกับเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยมาแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งผลก็ออกมาว่าไม่ผ่านมาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง
แต่ทางตัวแทนบริษัทขอให้ทางคณะทำงานนำตัวอย่างเหล็กที่ถูกอายัดเอาไว้ไปส่งตรวจกับสถาบันยานยนต์ ควบคู่กับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ตรวจแค่สถาบันเหล็กฯ เพียงสถาบันเดียว เนื่องจากมาตรฐานสารโบรอนของทั้ง 2 สถาบัน มีความแตกต่างกัน
- สถาบันเหล็กกล้ามีมาตรฐานอยู่ที่ 0.0009-0.0025%
- สถาบันยานยนต์จะมีมาตรฐานค่าโบรอนอยู่ที่ 0.0004-0.0066%
อย่างไรก็ตาม เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า เหล็กจากโรงงานของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ที่ใช้ในการสร้างตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งตกมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จะไม่มีสิทธิ์ตรวจซ้ำที่สถาบันยานยนต์อีก
ส่วนประเด็นเรื่องการซื้อขายเหล็กเพื่อใช้ในการสร้างตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น ทางตัวแทนบริษัทชี้แจงว่า บริษัทจำหน่ายเหล็กผ่านพ่อค้าคนกลาง จากนั้นพ่อค้าคนกลางจะนำเหล็กไปจัดจำหน่ายให้กับผู้รับเหมาต่ออีกทอดหนึ่ง
สุดท้ายนี้ ศ. ดร.อมร เน้นย้ำว่า ยังเร็วเกินไปที่จะปักใจไปที่สาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เนื่องจากอาจจะทำให้เราพลาดประเด็นสำคัญไปสำหรับเบื้องหลังของการถล่มของตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)