×

ศูนย์บึงฉวากรับดูแลเสือโคร่งอายุ 2 เดือน หลังยึดมาจากผู้ลักลอบขาย กัญจนาเผยต้องทำใจให้เป็นเสือกรงเลี้ยงตลอดไป

โดย THE STANDARD TEAM
09.04.2022
  • LOADING...
เสือโคร่ง

จากกรณีตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร่วมชุดเหยี่ยวดง จับกุมผู้ต้องหา 3 คน ขณะนัดส่งมอบลูกเสือโคร่ง สัตว์ป่าคุ้มครอง จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 1 ตัว อ้างนำมาจากต่างประเทศ บริเวณลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้า ตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา 

 

จากนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ส่งลูกเสือโคร่งของกลางให้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากดูแลอย่างใกล้ชิด โดย สุรศักดิ์ อนุเมธางกูร หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก เปิดเผยว่า จากรายงานการดูแลลูกเสือโคร่ง เพศเมีย ชื่อขวัญ ขณะนี้โดยรวมมีอาการดีขึ้น

 

ล่าสุด วันนี้ (9 เมษายน) กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าเยี่ยม ‘น้องขวัญ’ ลูกเสือโคร่ง วัยประมาณ 2 เดือน พร้อมระบุว่า เรื่องทางคดีหรือทางกฎหมายขอให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมอุทยานฯ ซึ่งขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะในยุคนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาจริงเอาจังกับเรื่องการจับพวกลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง

 

กัญจนากล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาแล้วว่า ศูนย์บึงฉวากมีความพร้อมที่สุดที่จะส่งลูกเสือมาเลี้ยง เพราะที่นี่เคยเลี้ยงลูกเสือ ลูกสิงโตมาจนโตแล้วเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ที่เลี้ยงลูกเสือลูกสิงโตจึงมีความชำนาญมาก มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ อีกทั้งมีสัตวแพทย์ อยู่ใกล้โรงพยาบาลสัตว์กำแพงแสน อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร จึงถือว่ามีความพร้อมมาก นมชนิดพิเศษที่ให้กินตอนนี้คือ นม KMR ชนิดผง สำหรับลูกแมว ลูกเสือ ซึ่งน้องขวัญกินจุมาก ถ้าแฟนคลับต้องการสนับสนุนก็สามารถส่งมาได้ 

 

โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เจาะเลือดไปตรวจ DNA หาสายพันธุ์ที่แท้จริงแล้ว ซึ่งก็ต้องรอผล และจะได้รู้ถิ่นกำเนิด อย่างไรก็ตาม หากน้องขวัญโตมากขึ้นก็จะค่อยดูว่าจะให้ขยับไปอยู่ในจุดไหนของศูนย์บึงฉวาก ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง ต้องค่อยๆ วางแผนกันไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นที่น่าเสียใจที่น้องขวัญจะไม่สามารถกลับคืนสู่ป่าได้ ต้องเป็นเสือในกรงเลี้ยงตลอดไป เพราะเขาไม่มีแม่สอนสัญชาตญาณการล่าสัตว์ เราต้องทำใจและเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด 

 

กัญจนาระบุว่า ตนเองยึดหลักการไม่ให้สัตว์ต้องอยู่ในที่แคบ เขาต้องมีที่วิ่งเล่นได้พอควร มีอาหารกินไม่อดอยาก เคยมีนักท่องเที่ยวบางคนคอมเมนต์ว่าเห็นเสือบางตัวผอม อันนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเสือบางตัวป่วยอายุมาก ก็มีที่ผอมเพราะสุขภาพร่างกายเขา ไม่ใช่เพราะขาดอาหาร

 

สำหรับงบประมาณอาหารของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ต้องดูแลศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์บึงฉวาก รวม 27 แห่งทั่วประเทศ ต้องดูแลสัตว์ป่าทั้งสิ้น 26,065 ตัว ในปีงบประมาณ 2565 ถูกตัดไปกว่า 85 % จาก 90 ล้านบาท เหลือเพียง 12.7 ล้านบาท ขอฝากสำนักงบประมาณว่าสัตว์พูดไม่ได้แต่เขาต้องกิน ขณะที่มีการจับผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ทำให้มีสัตว์ของกลางจำนวนเพิ่มมากขึ้น และต้องเข้ามาอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่ศูนย์ใดก็ศูนย์หนึ่ง จึงอยากขอความกรุณาสำนักงบประมาณอย่าตัดงบฯ ปี 2566 ของสัตว์อีกเลย

 

“เสือที่เลี้ยงไม่ว่าจะในสวนสัตว์หรือที่ต่างๆ การสำรวจประชากรพบว่า มีประมาณ 1,400-1,500 ตัว ซึ่งเสือเหล่านี้เกิดจากการผสมพันธุ์เพื่อการค้า เพื่อการจัดแสดง เป็นการผสมกันในครอบครัวที่ใกล้กันจึงทำให้ลูกที่ออกมานั้นไม่แข็งแรง ในขณะที่เสือในป่าซึ่งทำให้ระบบนิเวศสมดุลในธรรมชาติเองมีสถิติประมาณ 250 ตัวเท่านั้น ซึ่งเทียบกันไม่ได้ จึงอยากให้มีการพิจารณาอย่างจริงจังว่าให้เลิกการผสมพันธุ์เพาะพันธุ์เสือที่เลี้ยงเพื่อการค้าได้แล้ว เพราะสิ่งที่เราต้องการคือเสือที่เกิดในระบบธรรมชาติในป่ามากกว่า” กัญจนากล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising