วันนี้ (2 สิงหาคม) ในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ประชุมมีการพิจารณาการแปรญัตติคืนงบประมาณว่าควรจัดสรรงบประมาณที่อนุกรรมาธิการปรับลดไปให้กับหน่วยงานใด
โดย บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้เสนองบประมาณที่ปรับลดได้ไปเพิ่มในส่วนของงบกลางที่ดูแลบริหารจัดการโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี 16,362 ล้านบาท โดยระบุว่า เพื่อแก้ปัญหาโควิด
ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้ปรับเพิ่มงบประมาณให้กับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 13,200 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ท้องถิ่นที่หายไปจากภาษีที่ดิน รวมทั้งขอเพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนสวัสดิการต่างๆ ที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน แต่กลับถูกตัดงบประมาณลงในปีงบประมาณ 2565 ได้แก่ สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 800 ล้านบาท, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 631 ล้านบาท, สำนักงานกองทุนประกันสังคม เงินสมทบประกันสังคม จำนวน 1,669 ล้านบาท
ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า เห็นด้วย 35 ต่อ 7 และงดออกเสียง 3 เสียง โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยประกอบด้วยพรรคก้าวไกล 6 คน ได้แก่
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล
- ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ
- วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. บัญชีรายชื่อ
- วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส. กทม.
- วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ
- ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ
ส่วนอีก 1 เสียง คือ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในขณะที่ กมธ. จากพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยตามที่ บุญสิงห์ ส.ส. พลังประชารัฐ เสนอ
ทั้งนี้ ศิริกัญญาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเพิ่มงบฯ เข้างบกลางโดยบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาโควิดนั้นฟังเหมือนดูดี แต่ความจริงแล้วเมื่อเข้าไปอยู่ในมือของ พล.อ. ประยุทธ์ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้กับเรื่องอะไร ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ และจะนำไปใช้ในการแก้ปัญหาโควิดจริงหรือไม่ เราไม่อาจทราบได้
“ในขณะที่ท้องถิ่นขาดรายได้ ขนาดที่จะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ตั้งไว้ไม่พอจ่าย เราคิดว่าการคืนงบฯ ให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง มีแผนการใช้จ่าย และมีใบเสร็จ จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนมากกว่าการโอนงบฯ เข้าสู่งบกลาง ตีเช็คเปล่าให้ พล.อ. ประยุทธ์ บริหาร” ศิริกัญญากล่าว
ด้านวรรณวิภา กมธ. จากพรรคก้าวไกล ปีกแรงงาน ให้ความเห็นว่า ตนเสียใจ เศร้าใจ และผิดหวังมาก ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง แถมเป็นคนรากหญ้าที่หาเช้ากินค่ำ หมดหวังกับการบริหารของรัฐบาลไม่พอ ยังผิดหวังกับการตัดสินใจของกรรมาธิการงบประมาณอีก
“อภิปรายกันมาตลอดว่ารัฐบาลบริหารเงินไม่เป็น ไม่ตรงจุด แต่ยังมีมติเอาเงินทั้งหมดไปให้งบกลาง ที่นายกฯ และรัฐบาลบริหาร ในขณะที่สวัสดิการประชาชนโดนตัดร่วม 35,000 ล้านบาท กลายเป็นว่าสวัสดิการประชาชนก็ต้องไปลุ้นชิงโชคเอาอีกเหมือนเดิม การเข้ามาเป็นกรรมาธิการครั้งแรกตั้งใจมาทวงสวัสดิการให้ประชาชน เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงสถานการณ์แบบนี้ กลายเป็นว่าไม่สามารถทวงคืนอะไรได้เลย” วรรณวิภากล่าว