×

41 ชั่วโมงในสภา: ส่องอภิปรายงบ 69 ปัญหาปากท้องจะได้รับการเยียวยาแค่ไหน

โดย THE STANDARD TEAM
26.05.2025
  • LOADING...

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในช่วงระหว่างวันที่ 28-31 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นหนึ่งในวาระที่สำคัญ เพราะงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน ก็คือ ‘เงินภาษีของประชาชน’  

 

การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ชัดเจนให้รัฐสภาซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน เป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. หรือ รายการใช้จ่ายและแผนการโครงการต่างๆ ของรัฐบาล 

 

หากรัฐสภาไม่อนุมัติ รัฐบาลก็จะไม่สามารถนำเงินงบประมาณเหล่านี้ไปบริหารประเทศได้ เมื่อนั้นตามธรรมเนียมปฏิบัติที่มี  ‘รัฐบาลจะต้องลาออก หรือ ยุบสภา’ 

 

ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 ครั้งนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคพร้อมสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 เพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่มีความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีการคว่ำร่างตามที่เป็นข่าวลืออย่างแน่นอน 

 

322 เสียงของฝั่งรัฐบาล ย่อมทำให้การผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะการผ่านร่างกฎหมายนี้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่เท่านั้น 

 

เมื่อบวกรวมกับคำยืนยันของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ขั้วสีน้ำเงิน ที่มีเสียง สส. ในมือถึง 69 เสียง ขานรับชัดเจนไม่มีคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 เพราะเป็นคนกำกับเองกับมือ 

 

4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงแรงงาน ภายใต้กำกับการดูแลของพรรคภูมิใจไทย มีงบประมาณรวมกันสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่สนับสนุน ที่สำคัญงบประมาณใน 4 กระทรวงเหล่านี้ยังได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นทุกกระทรวง

 

แบบนี้แล้วยิ่งถือเป็นสัญญาณทางการเมืองที่ดี ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบ ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งของ ‘ขั้วสีแดง-ขั้วสีน้ำเงิน’ จากกรณีฮั้วเลือก สว. 

 

ประชุมสภา

 


 

กว่า 41 ชั่วโมงที่ สส. มานั่งอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในสภา ประชาชนจะได้รับรู้อะไรบ้าง 

 

  • ขั้นตอนการพิจารณา 

 

หลังจาก ‘ร่าง พ.ร.บ. รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 69’ ถูกส่งถึงรัฐสภา (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ก็จะผ่านเข้าสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เริ่มที่การอภิปรายและลงมติรับหลักการและเหตุผลในวาระ 1 (28-31 พฤษภาคม 2568) 

 

จากนั้นก็จะมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ในวาระ 2 และลงมติรับรองในวาระ 3 ก่อนส่งให้วุฒิสภา (สว.) รับรองภายใน 20 วัน แล้วทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย คาดว่าจะได้ใช้งบประมาณก้อนนี้ในเดือนตุลาคม 2568

 

  • ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ และการกำหนดแผนการใช้จ่ายของรัฐ

 

งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2569 นับเป็น งบประมาณขาดดุลต่อเนื่องปีที่ 19 เนื่องจาก ไทยเผชิญวิกฤติหนี้สาธารณะ และสูญเสียศักยภาพการเติบโตในระยะยาว มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ต้องกู้เงินมาอย่างต่อเนื่อง 

 

ตัวเลขขาดดุล 865,000 ล้านบาท ยังนับเป็นตัวเลขขาดดุลที่สูงที่สุดในรอบ 19 ปี ส่งผลให้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ) พุ่งสูงคาดว่าจะแตะเพดาน 70% ภายใน 2 ปี หากเศรษฐกิจยังโตต่ำกว่า 3.5% 

 

อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสะสม นโยบายระยะสั้น พึ่งพาการกู้เงิน ขาดการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โตต่ำและโตช้า 

 

ขณะที่ ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย สว. ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการด้านการคลัง มองว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภาวะรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เพราะการจัดเก็บภาษีน่าจะต่ำกว่าเป้าไปกว่าแสนล้านบาท หากมีการใช้เงินมากขึ้น รัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น 

 

รวมไปถึงเสียงเตือนของ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ขอให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและธุรกิจในช่วงถัดไป เพื่อที่จะทำให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้

 

ส่วนพรรคประชาชนชี้ให้เห็นว่า การขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว นักท่องเที่ยวลด สินค้าเกษตรราคาตก คนงานถูกเลย์ออฟ ค่าครองชีพพุ่ง ประเทศกำลังเดินหน้าสู่หายนะทางเศรษฐกิจ 

 

เนื่องจากรายได้หลักของไทยที่มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว กำลังโคม่าจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก กลไกเดียวที่จะช่วยได้คือการลงทุนจากภาครัฐ แต่รัฐบาลก็อยู่ในสภาวะใกล้ถังแตก จากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 2 เฟส จนต้องเลื่อนการแจกเงินเฟส 3 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด 

 

ฉะนั้นในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 ในครั้งนี้ ฝ่ายค้านได้นำเสนอหัวข้อ ‘อภิปรายงบ 2569: ช่วยรัฐบาลหาเงิน โอกาสสุดท้ายก่อนเศรษฐกิจไทยพังจริง’ เพื่ออาสาช่วยรัฐบาลหาเงิน ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น และขอแค่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะใช้งบประมาณที่มีอยู่มาใช้พยุงสภาพเศรษฐกิจ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ปรับโครงสร้างระยะยาว รวมถึงเตรียมเงินชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีทรัมป์

 

รวมไปถึงการออกมาเปิดเผยคำของบ 69 ของรัฐสภา เพื่อปรับปรุง-ติดตั้งระบบ-เติมแต่ง อาคารรัฐสภาผ่าน 15 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 2,800 ล้านบาท จาก พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน จะมีข้อมูลหรือการปรับแก้อย่างไรในการอภิปรายครั้งนี้

 

งบประมาณปี 69 กระทรวง

 

  • งบส่วนไหนที่ต้องจับตามอง สอดส่องให้ชัด

 

หากเรียงงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมากที่สุด 10 อันดับ คงหนีไม่พ้น ‘งบกลาง’ ที่มาอันดับ 1 ถึง 632,968 ล้านบาท แม้จะลดลงจากปี 2568 จำนวน 209,032 ล้านบาท แต่เงินก้อนนี้อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจบริหารจัดการ 

 

‘งบกลาง’ เป็นงบประมาณที่กันเอาไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน เพื่อใช้แก้ไขสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ ใช้บรรเทาความเสียหายภัยพิบัติ กรณีงบที่จัดสรรไว้ไม่พอ หรือไม่ได้จัดสรรไว้ 

 

ในอดีตรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ดึงงบกลาง ประมาณ 2 แสนล้านบาท ไปใช้ ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ในปี 2563, ดึงงบ 9 พันล้านบาท ไปใช้ใน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ในปี 2565 และเบิกงบมาอีก 2 พันล้านเพื่อฟื้นฟู 23 พื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

 

ปี 2568 รัฐบาลแพทองธาร ดึงงบประมาณมา 1.57 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เงินส่วนนี้จากเดิมที่จะใช้ในนโยบายแจกเงินหมื่น สุดท้ายได้ชะลอไป เพื่อนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน 

 

ปี 2569 จากงบกลางกว่า 632,968 ล้านบาท รัฐบาลมีแผนนำงบกลางไว้ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจ แก้ไขสถานการณ์ภาษีสหรัฐ กว่า 25,000 ล้านบาท ที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการเจรจากับสหรัฐ และมาตรการที่จะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก

 

ข้อสำคัญของงบกลางที่ทำให้ต้องจับตาอีกประการ คือ การดึงงบส่วนนี้ไปใช้ โดยไม่ต้องระบุหน่วยงานที่รับงบประมาณ ไม่ระบุรายละเอียด บางครั้งก็ไม่อาจทราบรายละเอียดของการใช้จ่ายได้เลยจนกว่าจะเกิดการใช้จ่ายขึ้นจริง ทำให้เหมือนการตีเช็คเปล่า ที่รัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบได้

 

ประชุมสภา

 

นอกจากนี้คงจะต้องรอดูด้วยว่า การจัดสรรงบประมาณฯ ของหน่วยงานต่างๆ จะเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 คือ 

 

  • ให้กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เทียบเคียงการดำเนินการกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย 
  • ให้หน่วยงานใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน การจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบฯ ให้เสนอขอรับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้เน้นโครงการลงทุนของภาครัฐ 
  • ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่มีเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม ให้นำเงินมาใช้ดำเนินโครงการหรือภารกิจในความรับผิดชอบเป็นลำดับแรก รวมทั้ง พิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อนำมาใช้ตามความเหมาะสม 
  • ให้ทุกกระทรวงและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบ ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

 

คงต้องติดตามพรรคฝ่ายค้าน ที่เตรียมขุนพลสลับกันขึ้นพูดอภิปรายว่าจะสามารถ กางข้อพิรุธงบประมาณของแต่ละกระทรวง โดยเฉพาะงบฯ ที่มีการเร่งตั้งโครงการ  

 

เพราะยิ่งใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2570 แล้ว งบประมาณปี 2569 อาจซ่อนโครงการอะไรเพื่อเป็นแต้มต่อทางการเมือง สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่  

 

และรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณวงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท เพื่อแก้วิกฤตปากท้องของประชาชนได้อย่างครอบคลุมอย่างไร การอภิปรายในช่วงสิ้นเดือนนี้คงมีคำตอบ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising