หลักทรัพย์บัวหลวง เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมการลงทุนเพื่อขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มผู้ลงทุนหน้าใหม่ เตรียมเปิดตัวแอปใหม่ภายในปีนี้ พร้อมประเมินตลาดหุ้นไทยปีนี้ผันผวนต่อจากปัจจัยกดันทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ผลักดันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใกล้เคียงปีก่อน เผยยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ปี 2565 ประเมินว่ามูลค่าการซื้อขายทั้งปีน่าจะใกล้เคียงกับปี 2564 ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 9.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน จากการเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการกลับข้างของนโยบายการเงินของ Fed ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลก
ขณะที่ปัจจัยในประเทศเองก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง
ในส่วนของส่วนแบ่งทางการตลาดปี 2565 หลักทรัพย์บัวหลวงคาดว่าจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับ 5.42% โดยใช้กลยุทธ์ขยายฐานผู้ลงทุนหน้าใหม่ และส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการด้านการลงทุนให้ลูกค้าเข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวก โดยปัจจุบัน หลักทรัพย์บัวหลวงมีบัญชีลูกค้าอยู่ราว 6 แสนบัญชี เป็นบัญชีที่มีการซื้อขายประจำประมาณ 30% ขณะที่ภาพรวมทั้งตลาดหุ้นในปี 2564 มีบัญชีใหม่รวมกว่า 1.7 ล้านบัญชี
“ปีนี้จะยังคงเน้นเรื่องการพัฒนานวัตกรรม ทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เพื่อตอบรับแนวโน้มการเติบโตของจำนวนนักลงทุน โดยภายในปีนี้จะมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันที่ให้บริการด้านการสื่อสารเกี่ยวกับการลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา” พิเชษฐกล่าว
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาบริการการลงทุนในต่างประเทศ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ หลักทรัพย์บัวหลวงได้ต่อยอดความสำเร็จจากการเป็นเจ้าแรกของไทย ในการเสนอขายตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ Depositary Receipt (DR) ปลดล็อกข้อจำกัดนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนหุ้นตลาดต่างประเทศ โดยออก DR ตัวที่สอง คือ DIAMOND ที่ได้เปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถเข้าไปลงทุนหุ้นชั้นนำของเวียดนามผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย และขณะนี้อยู่ระหว่างการหาตราสารอ้างอิงอื่นๆ เพื่อเสนอขาย DR ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน
ในส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจ ในปี 2565 หลักทรัพย์บัวหลวงมีงานที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) อย่างน้อย 3 บริษัท ซึ่งจะทยอยแจ้งข้อมูลแก่นักลงทุนเมื่อหุ้น IPO มีความพร้อม
พิเชษฐกล่าวว่า สำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น หลักทรัพย์บัวหลวงมีความสนใจเข้าไปในส่วนร่วมในฐานะผู้ให้บริการด้านการลงทุน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคริปโตเคอร์เรนซี
“สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เราก็ยังติดตามอยู่ต่อเนื่องเพื่อดูว่าจะเข้าไปให้บริการในส่วนใดได้บ้าง เราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นตราสารที่มีสินทรัพย์อ้างอิง ก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีตราสารใดบ้างที่เราสามารถนำมาให้บริการในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ส่วนของคริปโตอาจจะเข้าไปเกี่ยวในฐานะผู้ให้บริการมากกว่า” พิเชษฐกล่าว
สำหรับปี 2564 หลักทรัพย์บัวหลวงมีผลประกอบการเติบโตอย่างโดดเด่น โดยมีรายได้รวม 5,680.71 ล้านบาท กำไร 2,112.33 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดการซื้อขายหลักทรัพย์ 5.42% อยู่ในลำดับที่ 4 ของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 บริษัท มีส่วนแบ่งการตลาดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 4.77% อยู่ในลำดับที่ 6 ของบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 40 บริษัท และอยู่ในลำดับ 3 ของผู้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) โดยหลักทรัพย์บัวหลวงมีการเสนอขาย DW ตลอดปี 2564 ทั้งหมด 866 ตัว