เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (21 มกราคม) กมธ. คมนาคม มีมติไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของทาง บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และมีมติให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เลื่อนการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็น 15-104 บาท ซึ่งจะมีผลวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วมีเหตุผล 5 ประเด็น ดังนี้
- อายุสัมปทานยังเหลืออีก 8 ปี ซึ่งมีเวลาเพียงพอในการพิจารณาให้รอบคอบ
- เรื่องความโปร่งใสในการต่ออายุสัมปทาน
- การพิจารณาไม่ได้ผ่านหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. วินัยทางการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การดำเนินการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ ให้จัดทำงบประมาณการสูญเสียรายได้และผลประโยชน์ที่ได้รับเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย
- ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ไม่สามารถชี้แจงได้ว่าคำนวณมาจากฐานใด รวมถึงไม่มีข้อมูลจำนวนผู้โดยสารหรือความคุ้มค่าการลงทุน โดย กทม. ระบุว่า แค่สอบถามความเห็นของประชาชนแล้วเป็นอัตราที่ประชาชนรับได้
- ความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ประชาชนได้ ซึ่งหน่วยงานที่เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถชี้แจงได้ว่า หากไม่ต่อสัมปทานในครั้งนี้ รัฐและประชาชนจะเสียประโยชน์อะไรและได้รับประโยชน์อย่างไร
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (22 มกราคม) ราคาหุ้น BTS ปรับตัวลง 2.03%DoD สู่ระดับ 9.65 บาท Underperform SET Index ที่ปรับตัวลง 15.63 จุด หรือ 1.03%DoD สู่ระดับ 1,497.88 จุด
มุมมองระยะสั้น:
แม้ว่าในเชิงกฎหมายแล้ว กมธ. คมนาคม อาจจะไม่มีอำนาจในการสั่งให้ไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่ BTS แต่ทาง SCBS มองว่า ประเด็นเหล่านี้จะทำให้เรื่องของการอนุมัติการต่อสัมปทานฯ มีความล่าช้าออกไป เพราะว่าจะต้องใช้เวลาในการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ SCBS มองว่า ในระยะสั้นราคาหุ้น BTS จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เพื่อรอความชัดเจนของการต่อสัมปทาน
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ต้องติดตามคือ การประกาศผลประกอบการ 3QFY64 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
มุมมองระยะยาว:
SCBS ได้ประเมินในกรณีเลวร้ายสุด (Worst Case) ถ้า BTS ไม่ได้ต่อสัมปทาน ราคาเป้าหมายของ BTS จะลดลงเหลือ 9.00 บาท เทียบกับราคาเป้าหมายในกรณีปกติ (Base Case) ที่ 13.70 บาท
ทั้งนี้ ในระยะยาวต้องติดตามความคืบหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยหนุนต่อการเติบโตในระยะยาว
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล