×

บีทีเอส กรุ๊ปฯ ร่วมกับพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง หวังใช้จริงใน 2-3 ปี

10.08.2020
  • LOADING...

กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tram Bus) มาใช้ในประเทศไทย 

 

ทั้งนี้ ถือเป็นโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะระบบรางขนาดรอง เชื่อมต่อพื้นที่ภายในสถาบันการศึกษากับระบบขนส่งมวลชนหลัก รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีลาดกระบัง โดยจะใช้ระบบ E-Payment และ Non-Payment ผ่านบัตรแรบบิท 

 

ด้าน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่า ปัญหาหลักปัจจุบันเนื่องจากมีทางรถไฟวิ่งผ่านกลางสถาบันฯ มีผู้โดยสารเดินทางมาขึ้น-ลงจำนวนมาก ประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาขับขี่แทนการใช้ระบบขนส่งมวลชน ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น เกิดปัญหาจราจรติดขัดเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดการสะสมของมลพิษ ส่งผลต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมภายในสถาบันฯ 

 

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ‘ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง’ (Tram Bus) ในเบื้องต้น จะศึกษาความเป็นไปได้ใน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จากสถานีลาดกระบัง-หัวตะเข้ ระยะทาง 4 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี ขณะที่เส้นทางที่ 2 วิ่งรอบภายในพื้นที่ของสถาบัน และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์  

 

ในปัจจุบันรถรางไฟฟ้าล้อยาง เป็นระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่มีการใช้งานในเมืองหลวงหลายประเทศ โดยมีลักษณะคล้ายรถโดยสารทั่วไปแต่เป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งจะมีการพ่วงตู้โดยสาร ในรถ 1 ขบวนจะมี 3 ตู้ สามารถรับผู้โดยสารราว 250 คนต่อขบวน โดยใช้ความเร็วได้สูงสุด 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

 

ทั้งนี้ใน 2 เส้นทางจะต้องใช้รถรางไฟฟ้าล้อยาง จำนวน 4 ขบวน ในการให้บริการซึ่งจะเพียงพอต่อผู้โดยสารภายในสถาบันฯ และประชาชนทั่วไป โดยโครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา หากปรับใช้จริงจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี โดยโครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่นๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตได้

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising