×

4 ปีผ่านไป บีทีเอสยังสร้างลิฟต์ผู้พิการไม่ครบทุกสถานี หลังศาลสั่งสร้างให้เสร็จใน 1 ปี ตั้งแต่ปี 2557

12.03.2018
  • LOADING...

ผู้พิการกับลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นปัญหาค้างคาขัดแย้งกันมาตลอดหลายครั้ง ล่าสุดช่วงคืนวันที่ 11 มีนาคม 2561 มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้คนพิการ เจ้าของเพจ Accessibility Is Freedom ใช้มือทุบกระจกลิฟต์บีทีเอส สถานีอโศก

 

โดยมานิตย์บอกถึงสาเหตุที่ทำลงไปว่า เพราะลิฟต์สถานีอโศกมีการออกแบบผิดพลาด ทำให้ต้องถูกล็อกไว้ตลอดเวลา โดยไม่มีเจ้าหน้าที่มาเปิด

 

 

ลิฟต์ผู้พิการเป็นความผิดพลาดในการออกแบบของบีทีเอส ที่มีผลกระทบต่อผู้โดยสารที่จำเป็นต้องใช้ เพราะลิฟต์สามารถขึ้นทะลุไปได้ทุกชั้น ผลคือไม่สามารถควบคุมผู้โดยสารได้ กระทบถึงทั้งความปลอดภัยและการควบคุม จำหน่ายตั๋ว สถานีต้องปิดลิฟต์ และเปิดเมื่อจำเป็นต้องใช้

 

และลิฟต์ตัวนี้ยังไม่มีหลังคา ทำให้ผู้โดยสารที่กำลังรอลิฟต์ต้องทนตากแดด ตากฝน กดเรียกรอเจ้าหน้าที่มาเปิดลิฟต์ให้ และยังมีผลกระทบคือเจ้าหน้าที่ต้องมาคอยดูแลเปิด-ปิดลิฟต์ตลอดเวลา ทั้งที่เจ้าหน้าที่เองก็มีจำนวนจำกัด

 

 

บีทีเอสไม่ได้สร้างขึ้นรองรับผู้พิการตั้งแต่เริ่มต้น

ย้อนไป 5 ธันวาคม 2542 รถไฟฟ้าบีทีเอส เริ่มเปิดให้บริการทั้งหมด 23 สถานี ประกอบด้วย

 

สายสุขุมวิท (สายสีเขียวอ่อน) ได้แก่ หมอชิต, สะพานควาย, อารีย์, สนามเป้า, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, พญาไท, ราชเทวี, สยาม (สถานีร่วม), ชิดลม, เพลินจิต, นานา, อโศก, พร้อมพงษ์, ทองหล่อ, เอกมัย, พระโขนง, อ่อนนุช

 

สายสีลม (สายสีเขียวเข้ม) ได้แก่ สนามกีฬาแห่งชาติ, สยาม (สถานีร่วม), ราชดำริ,  ศาลาแดง, ช่องนนทรี, สุรศักดิ์, สะพานตากสิน

 

แต่มีลิฟต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ เพียง 5 สถานี ได้แก่ หมอชิต, อโศก, อ่อนนุช, ช่องนนทรี และสยาม

 

 

จนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ให้กรุงเทพฯ และ BTS จัดทำลิฟต์ให้ครบทั้ง 23 สถานี ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา

 

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองได้ทันตามกรอบเวลา โดยนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเวลานั้นออกมาชี้แจงพร้อมขอโทษต่อผู้พิการที่ไม่สามารถก่อสร้างและติดตั้งลิฟต์บนรถไฟฟ้าบีทีเอส สำหรับคนพิการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

 

โดยนายอมรชี้แจงสาเหตุที่ กทม. ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามกำหนด เนื่องจากความล่าช้าการจัดสรรพื้นที่สำหรับการก่อสร้างลิฟต์ ปัญหาการรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดิน รวมทั้งปัญหาการร้องเรียนตำแหน่งติดตั้งลิฟต์จากเจ้าของอาคารใกล้เคียง โดยได้ให้สำนักการจราจรและขนส่งทำหนังสือชี้แจงไปยังศาลปกครอง พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินการติดตั้งลิฟต์ทุกสถานีรวม 56 ตัวให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559

 

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ลิฟต์ผู้พิการยังติดตั้งไม่ครบ 56 ตัว

ล่าสุด (12 มี.ค.) นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ตั้งแต่ปี 2557 กทม. ได้ทำสัญญาสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการแล้ว 56 ตัว ใน 19 สถานี แต่สามารถก่อสร้างได้ 52 ตัว ส่วนอีก 4 ตัว ที่ไม่สามารถสร้างได้นั้น ได้แก่

 

  • สถานีตากสิน ยังไม่ก่อสร้างลิฟต์ผู้พิการ จำนวน 2 ตัว เนื่องจากมีแผนจะรื้อปรับปรุงสถานีเพิ่มเติมให้รถไฟฟ้าสามารถวิ่งสวนกันได้
  • สถานีศาลาแดง ไม่สามารถก่อสร้างลิฟต์ผู้พิการ จำนวน 1 ตัว เนื่องจากติดสายไฟและสาธารณูปโภคใต้ดิน แต่สถานีดังกล่าวมีลิฟต์ของ รฟม. (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ให้บริการทดแทนอยู่
  • สถานีนานา ไม่สามารถก่อสร้างลิฟต์ผู้พิการจำนวน 1 ตัว เนื่องจากติดพื้นที่อาคารใกล้เคียง แต่สถานีดังกล่าวมีลิฟต์ของคอนโดมิเนียมเอกชน ซึ่งเชื่อมกับสกายวอล์ก และภาคเอกชนอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการได้

 

 

ตั้งงบปี 2562 ขอสร้างลิฟต์ผู้พิการเพิ่ม-กำชับบีทีเอสใส่ใจผู้พิการ

ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง บอกด้วยว่า กทม. ทราบปัญหาและตระหนักถึงสิทธิของผู้พิการ โดยในปีงบประมาณ 2562 ได้ขอตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างลิฟต์ผู้พิการเพิ่มเติมอีก 19 ตัว ใน 19 สถานี เพื่อให้แต่ละสถานีมีลิฟต์ผู้พิการครบทั้ง 2 ฝั่ง โดยเชื่อว่างบประมาณดังกล่าวจะผ่านการเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

 

สำหรับเหตุการณ์ ผู้พิการชาย เจ้าของเพจ Accessibility Is Freedom ใช้มือทุบกระจกลิฟต์บีทีเอส สถานีอโศก เพราะมีการล็อกลิฟต์ผู้พิการนั้น

 

ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง ชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องล็อกลิฟต์ของผู้พิการ เนื่องจากลิฟต์ผู้พิการจะขึ้นตรงไปสู่ส่วนชานชาลารถไฟฟ้าโดยตรง เพราะผู้พิการไม่เสียค่าโดยสารอยู่แล้ว ทำให้ต้องมีการล็อกเพื่อป้องกันบุคคลทั่วไปใช้บริการ โดยหลักปฏิบัติคือการกดปุ่ม Intercom เรียกเจ้าหน้าที่

 

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าใจว่าเกิดจากความล่าช้าในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ โดยวันนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือถึงบีทีเอส เพื่อขอประชุมร่วมกันถึงแนวทางปฏิบัติและการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ โดยจะขอความร่วมมือกับบีทีเอสให้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการให้บริการผู้พิการมากขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X