×

ชานเมืองและคาร์บอน: เบื้องหลังชัยชนะของไบเดนที่เพนซิลเวเนีย

07.11.2020
  • LOADING...
ชานเมืองและคาร์บอน: เบื้องหลังชัยชนะของไบเดนที่เพนซิลเวเนีย

HIGHLIGHTS

2 mins read
  • ทั้งทรัมป์และไบเดนต่างก็คาดการณ์ไว้แต่แรกแล้วว่าเพนซิลเวเนียจะเป็นมลรัฐที่เป็นกุญแจสำคัญต่อการชนะเลือกตั้ง ดังนั้นทั้งสองจึงได้ทุ่มเทหาเสียงในมลรัฐนี้กันอย่างสุดตัวในสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
  • ไบเดนทำผลงานได้ดีกว่า ฮิลลารี คลินตัน มากในเขตชานเมืองของฟิลาเดลเฟีย อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไบเดนพลิกกลับมาชนะที่นี่ได้คือเขาไม่ได้พ่ายแพ้ที่เขตชนบทของมลรัฐอย่างขาดลอยแบบคลินตัน

หลังจากการนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาล่วงเลยมาถึงวันที่ 3 ในที่สุดเราก็ทราบกันแล้วว่า โจ ไบเดน ของพรรคเดโมแครตคือผู้ชนะที่ได้คะแนน Electoral College เกิน 270 เสียง (แม้ว่าผลจะยังถือว่าไม่เป็นทางการ เพราะทรัมป์และพรรครีพับลิกันกำลังจะดำเนินการทางกฎหมาย โดยกล่าวหาอย่างไม่มีหลักฐานว่าพรรคเดโมแครตได้ทำการทุจริตเลือกตั้ง) 

 

ซึ่งมลรัฐสุดท้ายที่เพิ่งมีการประกาศว่าไบเดนเป็นฝ่ายชนะและทำให้เขามีคะแนนถึง 270 เสียงในท้ายที่สุดก็คือมลรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะทั้งทรัมป์และไบเดนต่างก็คาดการณ์ไว้แต่แรกอยู่แล้วว่าเพนซิลเวเนียจะเป็นมลรัฐที่เป็นกุญแจสำคัญต่อการชนะเลือกตั้ง ดังนั้นทั้งสองจึงได้ทุ่มเทหาเสียงในมลรัฐนี้กันอย่างสุดตัวในสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

 

แล้วไบเดนชนะที่เพนซิลเวเนียได้อย่างไร อะไรคือกุญแจสำคัญ เราชวนวิเคราะห์ไปกับบทความนี้

 

ไบเดนไม่ได้ทำคะแนนในหมู่คนผิวสีได้ดีกว่า ฮิลลารี คลินตัน

สาเหตุหนึ่งที่ ฮิลลารี คลินตัน แพ้ทรัมป์ใน 3 มลรัฐสำคัญในเขตมิดเวสต์อย่างมิชิแกน, วิสคอนซิน และเพนซิลเวเนีย เป็นเพราะเธอไม่สามารถดึงคะแนนจากคนผิวสีในเขตเมืองใหญ่ได้มากเท่ากับที่ บารัก โอบามา เคยทำได้ 

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเดโมแครตหวังว่าไบเดนที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีของโอบามาและมีผู้สมัครรองประธานาธิบดีเป็นคนผิวสีอย่าง คามาลา แฮร์ริส จะสามารถชนะใจคนผิวสีได้อย่างถล่มทลายเหมือนที่โอบามาเคยทำได้ในปี 2008 และ 2012 

 

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคาดหวัง ไบเดนชนะที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนผิวสีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก) ที่ประมาณ 430,000 เสียง (ยังมีบัตรเลือกตั้งบางส่วนที่ยังไม่ได้นับ) พอๆ กับที่คลินตันเคยทำได้ที่ 480,000 เสียง

 

แต่เขาทำได้ดีที่เขตชานเมือง

ในทางตรงกันข้าม ไบเดนทำผลงานได้ดีกว่าคลินตันมากในเขตชานเมืองของเมืองฟิลาเดลเฟีย อย่างที่เชสเตอร์เคาน์ตี ไบเดนสามารถชนะที่นี่ได้มากถึงเท่าตัวของที่คลินตันเคยทำได้ (51,000 เสียง เทียบกับ 25,000 เสียง) หรือที่มอนโกเมอรรีเคาน์ตี ที่คลินตันเคยชนะแค่ 90,000 เสียง แต่ไบเดนทำได้ถึง 130,000 เสียง

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนมองว่าผลงานที่เหนือกว่าของไบเดนในเขตชานเมืองอาจจะไม่ได้เกิดจากตัวไบเดนเอง แต่น่าจะเกิดจากความไม่พอใจของชาวชานเมือง (ที่มักจะเป็นคนขาวที่มีการศึกษา) ต่อการบริหารงานของทรัมป์ โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ที่ไร้ประสิทธิภาพ รวมทั้งพฤติกรรมหลายอย่างที่พวกเขามองว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำประเทศ (เช่น การพูดโกหก การพูดจาเหยียดคนผิวสี การใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง เป็นต้น)

 

และแพ้น้อยลงที่เขตชนบท

อีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ไบเดนพลิกกลับมาชนะที่เพนซิลเวเนียได้คือ เขาไม่ได้พ่ายแพ้ที่เขตชนบทของมลรัฐอย่างขาดลอยแบบคลินตัน ไบเดนอาศัยภาพลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองสายกลางติดดิน ไม่ใช่ภาพของการเป็นชนชั้นสูงอย่างคลินตัน รวมทั้งอาศัยการชูนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมแบบไม่สุดโต่ง (เช่น การประกาศอย่างชัดเจนว่าเขาไม่สนับสนุนนโยบาย Green New Deal และการแบนการขุดเจาะน้ำมันด้วยเทคโนโลยี Fracking) เพื่อรับประกันชาวชนบทของเพนซิลเวเนียว่ารัฐบาลของเขาจะไม่ทำลายอุตสาหกรรมคาร์บอนอันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจที่นี่ 

 

ด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้เขาแพ้คะแนนที่ชนบทน้อยลงกว่าสมัยคลินตันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างเช่นที่ ยอร์คเคาน์ตี ที่คลินตันเคยแพ้ถึง 30% เขาก็แพ้แค่ 25%, ที่คัมเบอร์แลนด์เคาน์ตี เขาก็แพ้แค่ 10% จากที่คลินตันเคยแพ้ 18% รวมทั้งการพลิกมาชนะที่เคาน์ตีกึ่งเมืองกึ่งชนบทอย่างอีรี (คลินตันเคยแพ้ 2% แต่เขาพลิกมาชนะที่ 1%)

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising