หลังทราบผลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ คนที่ 17 การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ดูเหมือนจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ 2 บริษัทที่ทำธุรกิจรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ได้แก่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้ง 2 บริษัท ดูเหมือนจะไปในทิศทางตรงกันข้าม จากราคาหุ้นที่สะท้อนออกมาในวันนี้ โดย BTS ลดลง 3% สวนทางกับ BEM ที่เพิ่มขึ้น 3%
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น BTS ที่ปรับตัวลงในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลการเลือกตั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าฯ กทม. ทำให้การเจรจาต่างๆ ที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้อาจจะต้องเริ่มกันใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของภาระหนี้สินที่กรุงเทพฯ ติดค้างบริษัทอยู่
ส่วนกรณีของ BEM เป็นความคาดหวังต่อความคืบหน้าเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยาย ซึ่งต้องติดตามว่าจะใช้เกณฑ์ในเรื่องราคากับเทคนิคในสัดส่วนเท่าใด หากเป็นการใช้เกณฑ์เรื่องเทคนิคมากกว่าก็จะทำให้ BEM มีโอกาสสูงกว่า เพราะเป็นผู้ให้บริการสายสีส้มเดิมอยู่ก่อนแล้ว
การที่ราคาหุ้นของ BTS และ BEM วิ่งสวนทางกันในวันนี้ ภาดลมองว่า “คนที่ขาย BTS ก็อาจจะเปลี่ยนมาซื้อ BEM แทน หากยังต้องการคงสัดส่วนหุ้นกลุ่มนี้ในพอร์ต ส่วนกระแสข่าวเรื่องการไม่ต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวให้กับ BTS คงยังฟันธงไม่ได้ เพราะหากไม่ต่อสัญญาแล้วหนี้สินที่ค้างอยู่จะเคลียร์อย่างไร”
ทั้งนี้ หากประเด็นเรื่องหนี้ที่ค้างอยู่มีความชัดเจนขึ้นมา น่าจะเป็นประเด็นบวกต่อหุ้น BTS เพราะฉะนั้นแล้วการปรับตัวลงของราคาหุ้น BTS วันนี้ ตลาดอาจจะมองแง่ลบมากเกินไป
อย่างไรก็ดี ราคาหุ้น BEM ในระยะสั้นน่าจะโดดเด่นกว่า BTS เนื่องจากปัจจัยหนุนเฉพาะตัวในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประกอบกับการกลับมาเปิดเมืองทำให้จำนวนผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าน่าจะเพิ่มขึ้น YoY ได้ในทุกเดือนที่เหลือของปีนี้ ประกอบกับค่า P/E ของ BEM ที่ยังต่ำกว่า BTS
“แต่การเข้าเก็งกำไร ณ จุดนี้ อาจต้องระมัดระวัง เพราะหากการประมูลสายสีส้มมีความชัดเจนแล้ว อาจจะเห็นแรง Sell on Fact ออกมาได้”
ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า หนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ คือไม่ต้องการต่อสัมปทานกับ BTS หลังสัมปทานจะหมดอายุในปี 2572 หรือ 7 ปีต่อจากนี้ รวมถึงต้องการคงค่าโดยสารในระดับ 20-25 บาท ตลอดสายสีเขียวรวมส่วนต่อขยาย
ด้วยนโยบายดังกล่าว จะสร้างแนวโน้มเชิงลบต่อหุ้น BTS อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในระยะสั้น อาจเป็นไปได้ว่าผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่จะสามารถทำนโยบายได้ตามที่หาเสียงไว้ แต่เรามีข้อโต้แย้งที่อาจลดความกังวลของตลาด
ประเด็นแรก คือ มูลค่าของการต่อสัมปทานของ BTS หลังสัมปทานปัจจุบันหมดอายุลงในปี 2572 ไม่กระทบมูลค่าที่เราประเมินไว้ ด้วยราคาเหมาะสมที่ 12.4 บาท อ้างอิงสัญญาเดิมระหว่าง BTS และกรุงเทพฯ ที่ BTS จะดำเนินงานสายหลักจนถึงเดือนธันวาคมปี 2567 และจะดำเนินงานสายหลักในสัญญารับจ้างเดินรถ (O&M) จนถึงปี 2585
ประเด็นที่สอง คือ การต่ออายุสัมปทานจะเพิ่มมูลค่าอีก 2.9 บาท จากเป้าหมายเดิมที่ 12.4 บาท และเรามองว่าการต่อสัมปทานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ ยังมีหนี้ค้างชำระหากไม่มีการต่อสัญญา ในระยะสั้นกรุงเทพฯ ต้องชำระเงินให้ BTS อย่างน้อย 3.2 หมื่นล้านบาท สำหรับงานควบคุมและตรวจสอบระบบ (M&E) และงานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตั้งแต่ปี 2562 และในระยะยาวยังมีหนี้อีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากงานโยธาของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งเรามองว่ากรุงเทพฯ ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากขยายสัญญาสัมปทาน
ประเด็นที่สาม คือ ราคาค่าโดยสารใหม่ไม่เกิน 65 บาท ถือว่าไม่แพงหากมองในแง่ค่าโดยสารต่อกิโลเมตร
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP