×

BTG – ผลประกอบการจะพลิกกลับมามีกำไรและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

16.07.2024
  • LOADING...
BTG

เกิดอะไรขึ้น:

InnovestX Research คาดว่า บมจ.เบทาโกร (BTG) จะรายงานกำไรสุทธิ 574 ล้านบาท ใน 2Q67 ฟื้นตัวจากขาดทุนสุทธิ 351 ล้านบาท ใน 2Q66 และ 124 ล้านบาท ใน 1Q67 โดยผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นจะได้รับการสนับสนุนจาก:

 

  1. อัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้นสู่ 13.5% (เทียบกับ 10.5% ใน 2Q66 และ 10.8% ใน 1Q67) จากราคาสุกรและไก่เนื้อในประเทศที่สูงขึ้น (69 บาทต่อกิโลกรัม ลดลง 12%YoY เพิ่มขึ้น 5%QoQ และ 44 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 3%YoY เพิ่มขึ้น 8%QoQ) ปริมาณการขายส่งออกไก่เนื้อมาร์จิ้นสูงจากประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง

 

  1. ยอดขายที่เพิ่มขึ้น (เพิ่มขึ้น 2%YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น (เพิ่มขึ้น 5%YoY) จากการขยายกำลังการผลิต ทั้งนี้ การดำเนินงานทั้งหมด ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์ม และธุรกิจอาหารในประเทศไทย (95% ของยอดขาย) และต่างประเทศ (ประเทศกัมพูชาและสปป.ลาว) มีแนวโน้มจะกลับมามีกำไรที่ระดับกำไรขั้นต้นจากราคาที่ดีขึ้นท่ามกลางต้นทุนที่ลดลง

 

ทั้งนี้ ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านบาท สู่ 2 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนอัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้นจากราคาสัตว์บกที่ดีขึ้นในประเทศไทยใน 2Q67 และ 3Q67TD โดยคาดว่ากำไรปกติ 3Q67 จะเติบโต QoQ จากปัจจัยฤดูกาล และฟื้นตัวจากขาดทุนใน 3Q66 โดยได้รับการสนับสนุนจากราคาสัตว์บกในประเทศที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีใน 3Q67TD ท่ามกลางต้นทุนอาหารสัตว์ที่ค่อนข้างต่ำ

 

ใน 3Q67TD ราคาสุกรในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ 70 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 3%YoY เพิ่มขึ้น 1%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ระดับต่ำกว่า 65 บาทต่อกิโลกรัม จากการบริหารจัดการอุปทานในตลาดที่ดีขึ้น ราคาไก่เนื้อในประเทศอยู่ที่ 44 บาทต่อกิโลกรัม (เพิ่มขึ้น 9%YoY ทรงตัว QoQ เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ 38-40 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ยุโรป และญี่ปุ่นที่ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ ใน 3Q67TD ต้นทุนอาหารสัตว์ผสม (Spot Price) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว QoQ (ราคาข้าวโพดในประเทศที่สูงขึ้นเล็กน้อยถูกหักล้างโดยราคากากถั่วเหลืองนำเข้าที่ลดลง) แต่ยังคงลดลง ~10%YoY

 

BTG เป็นหนึ่งใน Proxy ของหุ้นกลุ่มอาหารที่จะได้รับประโยชน์จากราคาสุกรในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยจะเพิ่มขึ้น HoH ใน 2H67 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง YoY ในปี 2568 จากปริมาณเนื้อสุกรลักลอบนำเข้าที่ลดน้อยลง (เห็นได้จากราคาเนื้อสุกรชำแหละที่เพิ่มขึ้นเมื่อไม่นานนี้)

 

และมาตรการลดอุปทานที่เห็นชอบโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ โดยในช่วงกลางเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการสุกรไทยได้ร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตสุกรลง 0.45 ล้านตัวต่อ 90 วัน (3% ของปริมาณการผลิตต่อปี) หรือ 5,000 ตัวต่อวัน

 

โดยจะเห็นอุปทานลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใน 6 เดือน ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ฟาร์มสุกรรายใหญ่ของไทย (ที่มีแม่พันธุ์มากกว่า 1,000 ตัว) ได้รับการร้องขอให้ร่วมมือกันปรับลดปริมาณแม่พันธุ์สุกรลงทั้งหมด 78,571 ตัว ภายใน 3 เดือน (10% ของปริมาณแม่พันธุ์ทั้งหมดต่อปี) หรือ 26,190 ตัวต่อเดือน ทั้งนี้ แม่พันธุ์สุกร 1 ตัวจะให้ลูกประมาณ 22 ตัวต่อปี การปรับลดปริมาณแม่พันธุ์จะเห็นผลอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะ 12 เดือนข้างหน้า

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BTG ปรับขึ้น 3.60% สู่ระดับ 23.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 1.60% สู่ระดับ 1,327.43 จุด

 

กลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ:

ราคาหุ้น BTG ปรับตัว Outperform ตลาดอยู่ 4% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะ Outperform ต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจาก:

 

  1. กำไรสุทธิ 2Q67 ที่คาดว่าจะออกมาแข็งแกร่ง
  2. การปรับประมาณการกำไรปกติปี 2567 เพิ่มขึ้น และ
  3. BTG เป็นหนึ่งใน Proxy ของหุ้นกลุ่มอาหาร ที่จะได้รับประโยชน์จากราคาสุกรในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปใน 2H67 และปี 2568 จากการบริหารจัดการอุปทานที่ดีขึ้น

 

InnovestX Research ยังคงคำแนะนำ Outperform สำหรับ BTG โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2567 ที่ 28 บาทต่อหุ้น อ้างอิง PBV 2 เท่า (ROE ระยะยาวที่ 15% Cost of Equity ที่ 8.7% และการเติบโตระยะยาวที่ 2.5%)

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคืออุปสงค์และราคาที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่เปราะบางและอุปทานที่มากขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ปัจจัยเสี่ยง ESG ที่สำคัญคือการบริหารจัดการพลังงาน ของเสีย และน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) นโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค/พนักงาน (S)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising