เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 บมจ.เบทาโกร (BTG) รายงานขาดทุนปกติ 4Q66 ลดลง QoQ ตามคาดการณ์ เมื่อหักกำไรพิเศษจำนวน 20 ล้านบาทออกไป BTG รายงานขาดทุนปกติ 4Q66 ที่ 676 ล้านบาท พลิกจากกำไรปกติ 1.8 พันล้านบาทใน 4Q65 แต่ดีกว่าขาดทุนปกติ 736 ล้านบาทใน 3Q66 การลดลง YoY สะท้อนถึงราคาสัตว์บกในประเทศที่ลดลง ในขณะที่การเติบโต QoQ ได้รับการสนับสนุนจากมาร์จิ้นที่กว้างขึ้นจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงเล็กน้อย เงินปันผลปี 2566 อยู่ที่ 0.25 บาทต่อหุ้น (XD วันที่ 13 มีนาคม 2567)
ผลประกอบการจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ 1Q67 ด้วยต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง การส่งออกไก่เนื้อที่ดีขึ้น (ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งที่สูงถูกส่งผ่านไปยังราคาผลิตภัณฑ์) และราคาสัตว์บกในประเทศที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน จึงคาดว่า BTG จะพลิกกลับมามีกำไรใน 1Q67 สิ้นสุดการมีผลขาดทุนใน 4Q66 แต่ยังคงลดลง YoY จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง เมื่อใช้สมมติฐานว่าราคาสัตว์บกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการปรับอุปทาน และต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำ ผลประกอบการ 2H64 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ใน 1Q67TD ราคาสุกรและไก่เนื้อในประเทศอยู่ที่ 69 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 21%YoY, เพิ่มขึ้น 5%QoQ) และ 40 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 2%YoY, เพิ่มขึ้น 5%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ระดับกำไรขั้นต้นสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ 64-66 บาทต่อกิโลกรัม และ 37-38 บาทต่อกิโลกรัม ใน 1Q67TD ต้นทุนข้าวโพดและกากถั่วเหลืองนำเข้า (Spot Price) ลดลงสู่ 10.4 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 22%YoY และ 1%QoQ) และ 22.8 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 3%YoY, เพิ่มขึ้น 3%QoQ) จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2567 BTG คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลงจากปีก่อน บริษัทคาดว่าราคาสุกรจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากการควบคุมเนื้อสุกรนำเข้าผิดกฎหมายได้ดีขึ้น และการลดอุปทานตามแผนของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยผู้ประกอบการสุกรไทยจะร่วมมือกันลดการผลิตสุกรลง 5,000 ตัวต่อวัน (9-10% ของการผลิตต่อวัน) หรือ 0.5 ล้านตัวต่อ 90 วัน (3% ของการผลิตต่อปี) เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยจะเห็นอุปทานลดลงภายใน 6 เดือนหลังจากนั้น (3Q67) ราคาสุกรในประเทศที่ดีขึ้นประกอบกับความต้องการส่งออกไก่เนื้อที่แข็งแกร่งจะช่วยสนับสนุนราคาไก่เนื้อในประเทศ
กระทบอย่างไร:
หลังรายงานผลประกอบการ ตั้งแต่วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 ราคาหุ้น BTG ปรับขึ้น 4.74% สู่ระดับ 22.10 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 1.62% สู่ระดับ 1,371.17 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2567:
InnovestX Research ปรับประมาณการกำไรปี 2567 ของ BTG เพิ่มขึ้นจาก 600 ล้านบาท สู่ 1.5 พันล้านบาท เพื่อสะท้อนอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง และปริมาณส่งออกไก่เนื้อมาร์จิ้นสูงที่มากขึ้น ในปี 2567 ใช้สมมติฐานรายได้เติบโต 5%YoY และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 12% ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายปี 2567 ของ BTG ที่ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 5-10% (ราคาปรับขึ้น 1-2% และปริมาณขายเพิ่มขึ้น 4-7% จากการขยายกำลังการผลิต) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 13-15% (เทียบกับ 10% ในปี 2566) จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง ราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และผลิตภัณฑ์มาร์จิ้นสูงที่มากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนและคำแนะนำ ราคาหุ้น BTG ปรับตัว Underperform SET อยู่ 5% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่คาดว่าราคาหุ้นมีโอกาสจะเปลี่ยนมา Outperform จากปัจจัยบวกสนับสนุนดังต่อไปนี้ ปัจจัยแรก ขาดทุนปกติ 4Q66 เป็นไปตามคาด โดยลดลง QoQ เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์ลดลงเล็กน้อย ปัจจัยที่สอง ผลประกอบการน่าจะฟื้นตัวใน 1Q67 ในขณะที่ผลประกอบการ 2H67 จะดียิ่งขึ้นไปอีก โดยได้รับการสนับสนุนจากราคาผลิตภัณฑ์สัตว์บกที่สูงขึ้นจากอุปทานสุกรที่ลดลง และต้นทุนอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับต่ำ และปัจจัยที่สาม การปรับประมาณการกำไรปี 2567 เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ได้ปรับคำแนะนำสำหรับ BTG ขึ้นจาก Neutral สู่ Outperform โดยให้ราคาเป้าหมายใหม่ปี 2567 ที่ 27 บาทต่อหุ้น (จาก 24 บาท) อ้างอิง P/BV 2 เท่า (ROE ระยะยาวที่ 15%, Cost of Equity ที่ 8.70% และการเติบโตระยะยาวที่ 2.50%)
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ อุปสงค์และราคาที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่เปราะบางและอุปทานที่มากขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ความเสี่ยง ESG ที่สำคัญคือ การบริหารจัดการพลังงาน ของเสีย และน้ำ ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (E) และนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงาน (S)