นักวิเคราะห์ประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 มีโอกาสกลับมาแตะระดับ 2 แสนล้านบาท แม้ยังติดลบ 12.7% จากปีก่อน แต่เป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งทำได้ 8 หมื่นล้านบาท และ 1.17 แสนล้านบาท ตามลำดับ
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซียพลัส คาดการณ์ว่า กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับไตรมาส 3 ปี 2563 น่าจะทำได้ราว 2 แสนล้านบาท ลดลง 12.7% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ที่ทำได้ 2.29 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี แนวโน้มกำไรของหุ้นในตลาดยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากที่ไตรมาส 1 ปี 2563 ทำได้ 8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.17 แสนล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2563 ส่วนไตรมาส 4 ปี 2563 คาดว่าจะทำได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาท
“สำหรับกำไรในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยังใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ โดยตัวเลข ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 53% ทะลุ 1 แสนล้านบาทแล้ว ทำให้รวมทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งศักยภาพของ บจ. ไทย ควรทำกำไรได้เกิน 2 แสนล้านบาทต่อไตรมาส โดยที่ผ่านมากำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2-2.5 แสนล้านบาทต่อไตรมาส และเคยทำได้สูงสุด 2.9 แสนล้านบาท”
ทั้งนี้ มีโอกาสที่กำไรสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2563 จะออกมาดีกว่าที่ Consensus ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ประเมินกันไว้ไม่ถึง 2 แสนล้านบาท แต่เมื่อดูจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆ ตัวเลข พบว่า ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับ บล. เอเซียพลัส คาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนทั้งปี 2563 ไว้ที่ 6.1 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 52.6 บาท ส่วนปี 2564 คาดว่าจะเติบโตได้ 28%
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณของการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 ขึ้น ล่าสุดยังอยู่ที่ 78.4 บาทต่อหุ้น ทำให้ในเชิงกลยุทธ์เรายังคงแนะนำชะลอการลงทุนต่อไปจนกว่ามูลค่าหุ้นจะลงไปอยู่ในระดับที่น่าสนใจใหม่ ส่วนผู้ที่เปิดสถานะ Short ใน Index Futures สามารถถือครองสถานะดังกล่าวไว้ได้
สำหรับในรายของตัวหุ้นนั้น หากผู้ที่ต้องการเข้าซื้อหุ้นในช่วงนี้จริงๆ มองว่าอาจต้องเริ่มหันมาโฟกัสหุ้นขนาดกลางและเล็กมากขึ้น หลังราคายังคงปรับตัวช้ากว่า (Laggard) ในรอบนี้ ซึ่งดัชนี SET ขึ้นมาจากระดับ 1,200 จุด โดยเราประเมินว่ามีระดับความเสี่ยงขาลงที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่
“แม้ว่าหุ้นขนาดใหญ่อาจยังคงได้รับ Sentiment เชิงบวกในระยะสั้นจากกระแส Fund Flow แต่ในมิติของ Valuation นั้นต้องบอกว่าบางกลุ่มอุตสาหกรรมปรับสูงขึ้นมาเกินกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังแล้ว ด้วยเหตุนี้ในช่วงถัดไปตัวหุ้นอาจเผชิญกับแรงขายทำกำไรหรือเป็นเป้าหมายของการชอร์ตเซลได้”
สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่
- กลุ่มน้ำมัน โดยหุ้นที่ Valuation ของปีหน้าอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยขึ้นไปแล้ว อย่างเช่น บมจ. ปตท. (PTT), บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) เป็นต้น
- กลุ่มท่องเที่ยว โดยหุ้นที่ Valuation ของปีหน้าอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยขึ้นไปแล้ว อย่างเช่น บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT), บมจ. แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC), บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL), บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) และ บมจ. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล