×

โบรกฯ ชี้ล็อกดาวน์รอบนี้ กระทบหุ้นค้าปลีกจำกัด ธุรกิจเริ่มปรับตัวขายออนไลน์ ขณะพื้นที่ควบคุมมีเพียง 10 จังหวัด

12.07.2021
  • LOADING...
หุ้นค้าปลีก

การแพร่ระบาดของโควิดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับ ‘หมื่นคน’ ส่งผลต่อเนื่องไปยังระบบสาธารณสุขที่จำนวนเตียงไม่เพียงพอกับผู้ติดเชื้อ ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต้องประกาศมาตรการควบคุม 10 จังหวัด เป็นระยะเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564

 

สำหรับมาตรการควบคุมของ ศบค. ในรอบนี้ ใกล้เคียงกับมาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2563 แต่จำกัดเฉพาะพื้นที่การระบาดเข้มข้น โดยเน้นไปที่การลดกิจกรรมต่างๆ ด้วยการให้ทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home มากกว่า 70% รวมทั้งจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน และขอความร่วมมือไม่เดินทางระหว่างจังหวัด ปิดสถานบริการ ห้ามการจับกลุ่มเกิน 5 คน การปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้น แผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ยา และเวชภัณฑ์ สถาบันการเงินและอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร ซึ่งแน่นอนว่ายอมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคระห์และกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน จำกัด ประเมินว่า กลุ่มค้าปลีกถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อยอดขายของสาขาเดิม (same store sales growth) ในไตรมาสที่ 3/64 นี้ที่จะติดลบราว 17-20% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/63 ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ในลักษณะเดียวกัน

 

การล็อกดาวน์รอบนี้มองว่า โดยภาพรวมแล้วจะมีความเสี่ยงต่อประมาณการณ์กำไรทั้งปี 2564 ราว 10-20% ขึ้นอยู่กับความยาวนานของมาตรการ

 

“เบื้องต้น ศบค. จะใช้เวลาราว 2-4 สัปดาห์ ในการควบคุมความรุนแรงการแพร่ระบาดโควิด แต่หากเปรียบเทียบมาตรการล็อกดาวน์ในต่างประเทศแล้ว เขาใช้เวลากัน 1-2 เดือนกว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างได้ผล ก็มีความเป็นไปได้ที่การล็อกดาวน์ของเราอาจจะยาวนานขนาดนั้นผลกระทบก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปอีก”

 

กิจพณวิเคราะห์ว่า บริษัทในกลุ่มค้าปลีก ซึ่งมีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่จะได้รับผลกระทบหนักมากที่สุดคือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ของกลุ่มจิราธิวัฒน์ และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ของกลุ่มสิริวัฒนภักดี 

 

ส่วน บมจ.โฮม โปรดักส์เซ็นเตอร์ (HMPRO)และ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เจ้าของร้านค้าสะดวกซื้อ ของกลุ่มเจียรวนนท์ ถึงจะได้รับผลกระทบบ้างแต่จะมีผลกระทบที่น้อยกว่า ซึ่งรวมถึง บมจ.คอมเซเว่น (COM7) ที่ทำธุรกิจสินค้า IT ประเภทคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ โทรศัพท์เคลื่อนที่

 

มาตรการล็อกดาวน์ยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บางแห่งที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าพื้นที่ ทั้ง บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) และ บมจ.เอ็ม บี เค (MBK) เพราะคาดว่าจะต้องมีการปรับลดค่าเช่าลงเพื่อช่วยเหลือผู้เช่าพื้นที่จึงกระทบต่อรายได้ ขณะที่ยังมีค่าใช้จ่ายคงที่

 

ด้าน สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การล็อกดาวน์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มค้าปลีกค้าส่งเป็นหลัก โดยเฉพาะค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้า ซึ่งต้องปิดสาขาหรือปิดพื้นที่ภายในห้างบางส่วน ขณะเดียวกันยังต้องปิดให้บริการเร็วขึ้นด้วย 

 

ส่วนกลุ่มค้าปลีกประเภทร้านสะดวกซื้อที่ต้องปิดบริการในช่วงเวลา 20.00-04.00 น. ต้องลดเวลาในการให้บริการลง 

 

บล.เอเซีย พลัส ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า CRC ได้รับผลกระทบจากมาตรการมากสุด รวมถึง บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (ILM) และ HMPRO รองลงมาคือกลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อ ส่วนร้านอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในแง่ Sentiment การจับจ่ายใช้สอยอาจชะลอตัว

 

อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์ครั้งนี้มีพื้นที่ราว 10 จังหวัด ขณะที่กลุ่มค้าปลีกเริ่มปรับช่องทางมาขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ผลกระทบจึงน่าจะจำกัด และคาดว่าผลกระทบล็อกดาวน์รอบนี้จะน้อยกว่ารอบก่อน 

 

ภายใต้สถานการณ์การระบาดระยะสั้น ทั้ง บล.ยูโอบี เคย์เฮียน และ บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองทิศทางเดียวกันว่า ราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกหากปรับตัวลดลงมามาก ถือเป็นโอกาสในการซื้อ เชื่อว่าระยะสั้นตลาดน่าจะกลับมาให้น้ำหนักกับหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรไตรมาส 2 ปี 2564 โดดเด่นและได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัด แนะนำเลือกซื้อรายตัว โดย DOHOME ราคาเหมาะสม 30.4 บาท COM7 ราคาเหมาะสม 80 บาท และ SPVI ราคาเหมาะสม 8.65 บาท 

 

ส่วนการลงทุนระยะยาว รอรับสถานการณ์คลี่คลาย คือ BJC ราคาเหมาะสม 39.5 บาท MAKRO ราคาเหมาะสม 44 บาท และ CPALL ราคาเหมาะสม 65.5 บาท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X