นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า แนวโน้มกำไร บจ. ปีนี้ดีกว่าปีก่อน หลังจากที่เห็นผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน-ส่งออก อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังเป็นกลุ่มที่ถูกจับตามองว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยงจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอก 3 ในช่วงต้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า กล่าวว่า กำไร บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 1 ปี 2564 ดีตามที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะกลุ่มหลักคือพลังงาน แบงก์และการเงิน ส่งออก อย่างไรก็ตาม กลุ่มค้าปลีกมีกำไรลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ ส่วนหลักมาจากงบ CPALL
ขณะเดียวกันเป็นที่สังเกตได้ว่ากำไร บจ. ขนาดกลาง-เล็ก เริ่มลดลงหรือมีกำไรเติบโตไม่มากเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน เพราะปีที่แล้ว บจ. ขนาดกลาง-เล็ก ยังสามารถบริหารจัดการและปรับธุรกิจได้อยู่ในช่วงที่เผชิญกับโควิด-19 ใหม่ๆ แต่ปีนี้เริ่มติดขัด
ทั้งนี้หากเทียบกำไร บจ. กับช่วงเดียวกันปีก่อน YoY ก็เชื่อว่าดีขึ้น แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) อาจจะมีบางกลุ่มธุรกิจที่กำไรชะลอตัวลง
สำหรับแนวโน้มกำไร บจ. ในช่วงที่เหลือปีนี้ บล.หยวนต้า ยังมีมุมมองเป็นบวก และเชื่อว่ากำไร บจ. ทั้งปีจะเติบโตขึ้นจากปี 2563 ซึ่งสอดรับกับการเติบโตของ GDP ประเทศ โดยเบื้องต้นคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 2564 ที่ 80 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และคาดการร์กำไร บจ. ปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 90 บาทต่อหุ้น
โดยกลุ่มที่ปรับมุมองเป็นดีขึ้นคือกลุ่มพลังงาน รวมสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มส่งออก กลุ่มยานยนต์ และธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากธีม Global Play และกลุ่มที่ยังต้องติดตามความเสี่ยงคือกลุ่มบริการ เช่น ท่องเที่ยวและโรงแรม ค้าปลีก และบันเทิง
อย่างไรก็ตาม จับตามองกลุ่มแบงก์ เนื่องจากต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงเรื่องการตั้งสำรองที่เพิ่มอีกครั้ง หลังจากเกิดระลอก 3 ในช่วงต้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา และการออกมาตรการเยียวยาภาคประขาชนต่างๆ ที่ทำให้แบงก์อาจมีศักยภาพการทำกำไรลดลง
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่ได้สัมพันธ์กันทั้งหมด ในปีที่แล้วโควิด-19 เพิ่งเริ่มต้นและภาคธุรกิจเพิ่งเริ่มปรับตัว ขณะที่เงินช่วยเหลือเข้าสู่ระบบจริงๆ ก็ปลายปี แต่ปีนี้ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาเป็นสัญญาณการฟื้นตัวก่อน จนกระทั่งต้นไตรมาส 2 ที่เกิดการแพร่ระบาดระลอก 3 แต่ก็มองว่าภาคธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่ากับปีที่ผ่านมา”
สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กำไร บจ. ในไตรมาส 1 ปีนี้ดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ โดยอ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม พบว่า กำไร บจ. เติบโต 154% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และเติบโต 25% จากไตรมาสที่แล้ว สาเหตุหลักมาจากราคามันในไตรมาส 1 ปีนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น ตรงกันข้ามกับราคาน้ำมันไตรมาส 1 ปีที่แล้วที่เป็นทิศทางขาลง
นอกจากนี้ทิศทางเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปีนี้ยังเป็นทิศทางขาขึ้น หลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง (Re-Opening) ทำให้กลุ่มส่งออก รถยนต์ เกษตร และอาหาร มีกำไรดีขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบงก์เป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษว่าจะต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงเพิ่มหรือไม่
หากประเมินต่อเนื่องถึงแนวโน้มกำไร บจ. ไตรมาส 2 ปีนี้ยังมีมุมมองเป็นบวก โดยเชื่อว่าจะได้เห็นการเติบโต YoY แต่หากเทียบ QoQ อาจจะกำไรลดลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อ และเกิดการระบาดระลอก 3 ขึ้น ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักในหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศชะลอการเติบโต
สำหรับภาพรวมทั้งปี 2564 บล.กสิกรไทย ยังคงมุมมองกำไรต่อหุ้นที่ 81 บาท โดยกลุ่มที่จะมีกำไรเติบโตอย่างโดดเด่นคือกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น พลังงงาน โรงกลั่น ปิโตรเคมี สินค้าโภคภัณฑ์ รถยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
ขณะที่ วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า จากข้อมูลการแจ้งผลประกอบการ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม คิดเป็น 82% ของบริษัทที่ บล.บัวหลวง ติดตามเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า กำไร บจ. ส่วนใหญ่ดีขึ้น จึงยังคงประมาณการกำไรต่อหุ้นทั้งปี 2564 ไว้ที่ 83 บาทต่อหุ้น ซึ่งหากเทียบกับระดับดัชนี 1,500 จุด ได้ค่า P/E ราว 18 เท่า
ส่วนแนวโน้มกำไรรายไตรมาสเชื่อว่าจะดีขึ้น YoY ขณะที่ QoQ ยังต้องติดตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศและมาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐประกอบด้วย
ทั้งนี้กลุ่มที่คาดว่าจะมีกำไรเติบโตอย่างโดดเด่นคือกลุ่มที่ขยายตัวสอดรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กลุ่มวัฎจักร กลุ่มส่งออก กลุ่มเกษตรและอาหาร
ขณะที่กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับประมาณการลง โดยต้องรอฟังมุมมองจากผู้บริหารประกอบกับแผนการฉีดวัคซีนภายในประเทศและมาตรการเยียวยาต่างๆ ของภาครัฐประกอบอีกครั้งหนึ่ง
อีกกลุ่มที่ยังต้องติดตามคือกลุ่มแบงก์ ซึ่งแม้ความกังวลเรื่องหนี้เสียเพิ่มขึ้นจะมีไม่มาก เพราะแบงก์ไม่ได้เร่งปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่ม แต่มาตรการเยียวยาจากภาครัฐรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย อาจทำให้ศักยภาพการทำกำไรของกลุ่มแบงก์ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่ากลุ่มแบงก์จะมีการเติบโตของกำไรในปีนี้เช่นเดิม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า