×

จับตา! หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ โบรกคาดกลับมาเด่นหลังช่วงหยุดยาวตรุษจีน

16.02.2021
  • LOADING...
จับตา! หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ โบรกคาดกลับมาเด่นหลังช่วงหยุดยาวตรุษจีน

จากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้ ส่งผลให้ราคาของสินทรัพย์ต่างๆ ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมักจะปรับตัวขึ้นได้ดีหากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการขยายตัว ซึ่งก็มักจะหนุนให้ราคาหุ้นที่เชื่อมโยงกับสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นโดดเด่นเช่นกัน 

 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล. กสิกรไทย เปิดเผยว่า ในภาพใหญ่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงตลาดหุ้น กำลังเข้าสู่ช่วง Reflation สะท้อนได้จากผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รัฐบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า ‘Bear Steepener’ หรือการที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี กับ 10 ปี และอายุ 5 ปี กับ 30 ปี ต่างมีระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี 

 

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าวคือ ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการกระจายวัคซีนได้เร็วว่าที่คาดไว้ หนุนให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเพิ่มไปสู่ระดับ 2-2.3%

 

“จากสถิติในอดีต เมื่อเข้าสู่ภาวะ Beer Steepener ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด อย่างดัชนี S&P 500 หากมองค่าเฉลี่ย 6 ปีจะให้ผลตอบแทน 11% โดยกลุ่มที่โดดเด่นคือไฟแนนซ์และวัสดุ ซึ่งเราประเมินว่าภาพในไทยจะคล้ายกันคือ ตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้นได้” 

 

นอกจากหุ้นแล้วเชื่อว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับขึ้นได้เช่นกัน อย่างราคาน้ำมันน่าจะยืนอยู่ในระดับสูงกว่า 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนถึงอย่างน้อยเดือนมีนาคม 2564 จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นต้องติดตามข้อตกลงการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกอีกครั้ง 

 

ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก็น่าจะปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ในไทยจะเน้นไปที่กลุ่มน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง น้ำตาล เหล็ก เป็นกลุ่มที่ถือว่ามีสภาพคล่องค่อนข้างน้อย ทำให้หุ้นน้ำมันจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหลังจากผ่านเทศกาลตรุษจีน ก็น่าจะเห็นหุ้นกลุ่มเหล่านี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากชะลอไปในช่วงตรุษจีน

 

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ปี 2564 (YTD)

 

ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเช่น น้ำมัน และสินค้าอื่นๆ มีแนวโน้มจะไต่ระดับขึ้นต่อได้ จากทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ทำให้เกิด Dollar Carry Trade เพราะแต่ละคนไม่อยากถือครองเงินดอลลาร์ เนื่องจากกังวลการเสื่อมค่าของเงิน

 

ประกอบกับเงินเฟ้อที่เริ่มขยับขึ้น ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขยับขึ้นตาม ซึ่งการขยับขึ้นของเงินเฟ้อในระยะนี้ยังไม่น่ากังวลนัก 

 

“หากมองหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ในไทย คงต้องเน้นไปที่ Hard Commodity อย่างน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นสัดส่วนหลัก นอกจากนี้หุ้นในกลุ่มเดินเรือและสาธารณูปโภค ซึ่งสามารถปรับราคาขายตามเงินเฟ้อได้ มีโอกาสจะโดดเด่นเช่นกัน”

 

นอกจากนี้หุ้นกลุ่มธนาคารจะได้ประโยชน์ในระยะถัดไป หลังจากที่เงินเฟ้อปรับขึ้นมาได้จริงและยืนอยู่ได้ ในมุมกลับกันหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าและสื่อสาร มักจะเป็นกลุ่มที่น่าสนใจน้อยลงหากเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 

 

“ในช่วงครึ่งปีแรกเชื่อว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะยังคงอยู่ในระดับสูง หนุนให้หุ้นกลุ่มนี้ยัง Outperform ได้ แต่ครึ่งปีหลังอาจต้องระมัดระวังการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีการปรับมุมมองเรื่องเงินเฟ้อ ทำให้จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าจะไม่เห็นการขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2566 ก็อาจจะเปลี่ยนไปได้ ถ้าหากเงินเฟ้อขยับขึ้นถึงกรอบที่คาดการณ์ไว้ราว 2%” 

 

ขณะที่ บล. เอเซียพลัส ระบุว่า ในระยะนี้ยังให้น้ำหนักกับหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ยังปรับขึ้นอีก 1.4% มาที่ระดับ 63.33 ดอลลาร์ สูงสุดในรอบ 13 เดือน ปัจจัยหนุนมาจากพายุหิมะในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลบวกทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือ พายุหิมะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังส่งผลให้อุปทานขาคแคลนในช่วงสั้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในแคนาดาและรัฐเท็กซัสต้องปิดการชั่วคราว 

 

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยเรามองว่าหุ้นอย่าง PTT, PTTEP และ NER ซึ่งมีโอกาสได้แรงผลักดันจาก Fund Flow เพิ่มเติม หลังจากที่หุ้นปิโตรเคมีและพลังงานบางส่วน ทยอยประกาศผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด เช่น PTTGC ซึ่งกำไรไตรมาส 4 ปี 2563 ดีกว่าคาด ทำได้ 6.2 พันล้านบาท

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X