×

โบรกฯ ชงยกเลิกใช้ ‘บัญชีเงินสด-เครดิตบาลานซ์’ เทรดหุ้น เหลือแค่ ‘แคชบาลานซ์’ หวังปิดรูโหว่เคสหุ้น MORE ด้านเสียงค้านหวั่นฉุดวอลุ่มตลาดวูบกว่า 50%

24.11.2022
  • LOADING...
แคชบาลานซ์

โบรกเกอร์เสนอแนวคิดยกเลิกใช้บัญชีเงินสด-บัญชีเครดิตบาลานซ์ ซื้อขายหุ้น กำหนดให้ซื้อขายหุ้นทุกประเภทด้วยบัญชีแคชบาลานซ์เท่านั้น คล้ายในบางประเทศที่ใช้แนวทางดังกล่าว หวังใช้แก้ปัญหาและป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น หรือ MORE ด้านเสียงคัดค้านระบุว่า หากยกเลิกบัญชี 2 ประเภทจริงจะฉุดให้วอลุ่มตลาดหุ้นหายไม่น้อยกว่า 50%

 

แหล่งข่าวระดับสูงวงการตลาดทุนไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ล่าสุดในการประชุมผู้บริหารโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ได้มีผู้บริหารโบรกเกอร์เสนอแนวคิด 2 เรื่องหลัก เพื่อมาใช้เป็นแนวทางป้องกันการเกิดปัญหาที่ซ้ำรอยเหตุการ์หุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) หรือเหตุการณ์ที่นักลงทุนเข้ามาใช้ช่องโหว่ฉ้อโกงในการซื้อขายหลักทรัพย์ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยมีเสนอแนวคิดในที่ประชุม ดังนี้ 

 

  1. ยกเลิกการใช้บัญชีเงินสด (Cash Account) กับบัญชีเครดิตบาลานซ์ (Credit Balance) ในการซื้อขายหุ้น และกำหนดให้การซื้อขายหุ้นทุกประเภทสามารถทำได้ผ่านบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) หรือบัญชีวางหลักประกันเต็มจำนวนเท่านั้น ซึ่งคล้ายคลึงกับตลาดหุ้นบางประเทศที่ใช้แนวทางดังกล่าว
  2. กำหนดให้มีการวางเงินหลักประกันเพิ่ม จากที่ปัจจุบันกำหนดให้ 20% สำหรับบัญชีเงินสด ซึ่งสามารถใช้ซื้อขายได้ถึง 5 เท่าของหลักประกันที่นำเงินมาไว้
  3. เสนอให้มีการตั้งหน่วยงานกลางคล้ายกับเครดิตบูโร เพื่อใช้ในการตรวจข้อมูลวงเงินที่ลูกค้านักลงทุนได้รับจากโบรกเกอร์แต่ละแห่งเพื่อนำมาซื้อขายหุ้น ทั้งนี้ เพื่อป้องความเสี่ยงที่ลูกค้ามีการขอวงเงินมากเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างโบรกเกอร์สมาชิกอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะข้อเสนอที่มีให้ยกเลิกการใช้บัญชีเงินสด และใช้บัญชีเครดิตบาลานซ์ในการซื้อขายหุ้น เนื่องจากมีโบรกเกอร์หลายรายที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้

 

โดยเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยนั้น โบรกเกอร์ระบุว่าหากมีการยกเลิกการใช้บัญชีเงินสดกับบัญชีเครดิตบาลานซ์ในการซื้อขายหุ้น จะกระทบต่อมูลค่ารวมของการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย โดยอาจทำให้มูลค่ากรซื้อขายรวมลดลงไม่น้อยกว่า 50% จากระดับปัจจุบัน เพราะบัญชีซื้อขายหุ้นทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวนั้น มีนักลงทุนใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันไทยและนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ 

 

โดยหากยกเลิกจริง จะกระทบต่อนักลงทุนสถาบันไทยหรือนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ เพราะจะทำให้มีภาระในการหานำเงินมาวางเป็นหลักประกันเต็มจำนวนเพื่อใช้ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเดิมกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ไม่ต้องนำหลักมาวางค้ำประกันแต่อย่างใด เนื่องจากได้รับการยกเว้นเพราะถือเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีฐานะมั่นคง

 

“แนวคิดการยกเลิกการใช้บัญชีเงินสดและให้ใช้เฉพาะบัญชีแคชบาลานซ์ มองว่าสุดโต่งเกินไป หากนำออกมาใช้จริงเชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนสถาบันกับนักลงต่างชาติหายออกไปจากตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก เพราะสเน่ห์ที่สำคัญของตลาดหุ้นไทยคือสภาพคล่องการซื้อขายที่เรามีมากที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่การกำหนดให้เงินหลักประกันเพิ่มจากที่ปัจจุบันกำหนดให้ 20% นั้นมีความเป็นไปได้ซึ่งขึ้นกับการหารือร่วมของ ASCO”

 

ส่วนกรณีจะมีการออกแนวทางการจำกัดวงเงินหรือไม่ปล่อยวงเงินซื้อ-ขายในหุ้นที่มีอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) สูงนั้น เชื่อว่าไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการนำมาใช้เพื่อพิจาณาในการเลือกปล่อยวงเงินซื้อขายหุ้น เพราะหุ้นที่มี P/E Ratio สูงๆ ในหลายบริษัทก็เป็นบริษัทที่มีแนวโน้มกำไรที่เติบโตสูงและมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี

 

ด้าน ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ เลขาธิการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความคืบหน้าในการหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญของของโบรกเกอร์ในกรณีหุ้น MORE ปัจจุบันสมาชิกโบรกเกอร์อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางรายละเอียดป้องกันภายในของตัวเอง เพื่อนำมาปิดจุดอ่อนที่ผู้ไม่หวังดีอาจใช้เข้ามาใช้โจมตีได้ ทั้งนี้ หากแต่ละโบรกเกอร์ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนน่ามีการนัดหารือร่วมกันอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ ในการดำเนินธุรกิจของโบรกเกอร์ปัจจุบัน มีเกณฑ์ที่สามารถใช้ยึดเป็นหลักการ (Principle-Based) ทั้งเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประกาศของ ASCO เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจของแต่ละแห่งที่มีความแตกต่าง เช่นโบรกเกอร์บางแห่งเน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อย บางแห่งเน้นกลุ่มลูกค้าสถาบัน ดังนั้น การพิจารณาให้วงเงินซื้อขายหุ้นกับลูกค้าจึงขึ้นกับการตัดสินใจในรายละเอียดของแต่ละโบรกเกอร์ โดยอยู่ในกรอบที่เห็นว่าเหมาะสม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X