สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ซึ่งเริ่มระบาดหนักขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จนล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นแตะระดับ 7,000 ราย จึงมีความเสี่ยงที่ภาครัฐอาจตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์ด้วยมาตรการที่เข้มข้นขึ้น
นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงข่าวโดยระบุว่า มาตรการที่จะเสนอที่ประชุม ศบค. ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย
- การห้ามเดินทางข้ามจังหวัดหรือออกนอกเคหสถาน
- ปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมด
- เน้นการทำงานจากที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
ซึ่งอาจถือได้ว่ามีความเข้มข้นไม่น้อยกว่ามาตรการเมื่อเดือนเมษายน ปี 2563
การออกมาให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงสาธารณสุขเริ่มสร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้น ส่งผลให้มีแรงขายหุ้นออกมาจำนวนมากและกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (8 กรกฎาคม) ปรับตัวลดลงเกือบ 33 จุด มาปิดตลาดที่ 1,543.67 จุด หรือ 2.09% มูลค่าการซื้อขายหนาแน่นกว่า 110,954 ล้านบาท โดยดัชนีที่ระดับดังกล่าวถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสที่ภาครัฐจะประกาศล็อกดาวน์ค่อนข้างสูง คล้ายกับช่วงของการประกาศล็อกดาวน์บางส่วนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง
แน่นอนว่ากลุ่มหุ้นที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศและการเปิดเมือง ซึ่งการฟื้นตัวจะชะลอออกไปแน่นอน เช่น กลุ่มธนาคาร ค้าปลีก นิคมอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า และขนส่ง
“ภาพรวมของกลุ่มเหล่านี้มีโอกาสจะถูกกดดันอยู่แล้วด้วยผลประกอบการไตรมาส 2 ที่น่าจะหดตัวลง อย่างกลุ่มธนาคารซึ่งเราประเมินว่ากำไรไตรมาส 2 อาจจะหดตัว 22-25% จากไตรมาสแรก และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผลประกอบการไตรมาส 3 ที่จากเดิมคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ ก็อาจจะยังหดตัวต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงเดือนสิงหาคมหรือกันยายนด้วยหรือไม่”
ดัชนี SET มีโอกาสลงไปทดสอบระดับ 1,540 จุด ส่วนความเสี่ยงที่จะลดลงไปต่ำกว่านั้นขึ้นอยู่กับว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ จะออกมาอย่างไร โดยจะเริ่มเห็นจากกลุ่มธนาคาร ซึ่งหากกำไรไตรมาส 2 ลดลงไปถึงระดับ 30% ก็มีโอกาสที่ SET อาจจะลดลงไปต่ำกว่านั้นได้ เพราะนักวิเคราะห์อาจจะเริ่มปรับลดคาดการณ์กำไรปีนี้ของตลาดลงได้
“ส่วนตัวมองว่าการ Wait and See น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดในตอนนี้ เพราะแม้ว่าหุ้นจะฟื้นตัวได้ แต่ก็ไม่น่าจะพุ่งขึ้นไปเร็วหรือทะลุ 1,610 จุดได้ และโดยปกติแล้วจากสถิติที่ผ่านมา ช่วง 1 สัปดาห์บวกลบจากวันที่ประกาศล็อกดาวน์ ดัชนี SET จะติดลบประมาณ 3%”
ในมุมกลับกันอาจจะมีหุ้นบางกลุ่มที่ยังน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มที่ได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า เช่น ธุรกิจส่งออกและธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งได้ประโยชน์จากบริการตรวจโควิด ซึ่งมีอัตรากำไรสูงกว่า 30% รวมไปถึงกลุ่มบริหารหนี้ที่น่าจะได้ประโยชน์หลังจากที่ธนาคารขายหนี้ออกมามากขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ของธนาคารกรุงเทพ ที่ปกติจะไม่ค่อยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก
“ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมนี้ หากไม่มั่นใจแนะนำให้นักลงทุนนิ่งไว้ก่อน ด้วยสถานการณ์โควิดภายใน ขณะที่ต่างประเทศก็ยังไม่ชัดเจน ทั้งการระบาดของสายพันธุ์เดลตาและความไม่แน่นอนของการส่งสัญญาณ QE Tapering ว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมหรือไม่”
กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-กลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เร่งขึ้นแม้ว่าจะมีมาตรการเข้มงวดแล้วบางส่วน อาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมได้
สำหรับหุ้นกลุ่มธีมเปิดประเทศ เช่น กลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยว และขนส่ง จะเป็นกลุ่มหลักที่ถูกกดดัน ซึ่งเป็นเช่นนี้มาทุกครั้งที่มีมาตรการล็อกดาวน์ออกมา ส่วนภาพรวมตลาดจากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นการซึมลงมาก่อนหน้าที่จะประกาศล็อกดาวน์ราว 4% และเมื่อประกาศล็อกดาวน์แล้วจะเห็นการปรับตัวลงของตลาดรับกับข่าวอีกราว 3%
“เบื้องต้นประเมินดัชนี SET มีโอกาสลงไปทดสอบระดับ 1,510-1,550 จุด ส่วนกรณีแย่สุดคือตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นแม้จะมีมาตรการออกมาแล้ว ก็อาจจะเห็นตลาดลงไปต่ำกว่า 1,500 จุด แต่ ณ ขณะนี้ ยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากนักว่าจะลดลงไปถึงระดับนั้น”
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากเดิมที่เคยประเมินว่าดัชนี SET จะบวกลบ 50 จุด จากระดับยุติธรรมของ SET ที่ 1,600 จุด บนสมมติฐานเดิมที่ไม่ได้คาดว่าสถานการณ์โควิดจะแย่ลงมาก เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่ SET จะหลุด 1,550 จุด ในระยะสั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าคาดการณ์กำไร บจ. จะยังไม่ถูกปรับลง โดยอยู่ที่ระดับ 95.5 บาทต่อหุ้น แต่ก็มีโอกาสที่จะถูกปรับลงได้หลังการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ในช่วง 1 เดือนข้างหน้านี้
“การล็อกดาวน์ในรอบนี้มีโอกาสเป็นไปได้หลังจากที่มีสัญญาณมาต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้นอาจไม่ได้เห็นข่าวร้ายที่แย่ไปกว่านี้แล้ว เพราะฉะนั้นการที่ดัชนีลดลงมาต่ำกว่า 1,550 จุด มองว่าเป็นระดับที่เริ่มคุ้มความเสี่ยงในการเข้าซื้อ เพราะโดยธรรมชาติแล้วหุ้นไทยมีโอกาสจะเล่นรอบได้ในระดับ 50-100 จุด ทำให้ดัชนีอาจกลับไปทดสอบ 1,600 จุด ได้อีกรอบ โดยเน้นกลุ่มหุ้นที่อิงกับปัจจัยภายนอก เช่น ส่งออกและโลจิสติกส์”
ส่วนนักลงทุนระยะกลางอาจจะรอไปจนกว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในเรื่องของ QE Tapering ซึ่งมีโอกาสจะกดดันให้ตลาดหุ้นลดลงไปได้อีกในไตรมาส 4 ซึ่งการลดลงของดัชนีในช่วงที่ผ่านมายังไม่ได้ตอบรับต่อประเด็นนี้ หากมีประเด็นนี้เข้ามากดดันเพิ่มเติมจะทำให้หุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงจะลงไปทดสอบ 1,500 จุด
ขณะที่ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิดในประเทศและกลุ่มส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าสู่ระดับ 32.42 บาทต่อดอลลาร์ ใกล้เคียงกับช่วงโควิดระลอกแรกเดือนมีนาคม 2563 โดยยังเน้นจำกัดสัดส่วนการเก็งกำไรไม่เกิน 30% ของพอร์ต ขณะที่นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย อาจรอให้ตลาดหุ้นแกว่งตัวลงมาสร้างฐานก่อน หลังจากนั้นจึงทยอยเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่มีฐานะทางการเงินแข็งแรง แต่ยังต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น